ปภ. เตือนอุบัติภัยจากไฟฟ้า .. ภัยร้ายคร่าชีวิตช่วงน้ำท่วม





ปภ. เตือนอุบัติภัยจากไฟฟ้า .. ภัยร้ายคร่าชีวิตช่วงน้ำท่วม ( กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนอุบัติภัยจากไฟฟ้าเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในช่วงน้ำท่วม พร้อมแนะผู้ประสบภัย หากน้ำท่วมบ้านให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า พร้อมย้ายสวิตซ์ไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่สูงกว่าระดับ น้ำท่วมถึง ห้ามใช้และสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดในขณะที่ตัวเปียกชื้น ยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะหรือตัวแช่อยู่ในน้ำ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำและพายเรือเข้าใกล้แนวเสาไฟฟ้า เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล จะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า อุบัติภัยจากไฟฟ้าเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในช่วงน้ำท่วม เนื่องจากความประมาทและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม จึงมองข้ามอันตรายใกล้ตัว ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วมขัง การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ รวมทั้งการเข้าไปอยู่ใกล้บริเวณที่ไม่ตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อเกิดน้ำท่วมขัง

เพื่อความปลอดภัย ขอแนะวิธีป้องกันอุปกรณ์จากไฟฟ้าในช่วงน้ำท่วม ดังนี้

กรณีน้ำท่วมบ้าน หากเป็นบ้านชั้นเดียว ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยยกสะพานไฟขึ้น ย้ายสวิตซ์ไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง ห่างจากระดับที่น้ำท่วมถึง พร้อมงดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด

หากบ้าน 2 ชั้น ให้ดำเนินการแยกวงจรไฟฟ้าชั้นบนและชั้นล่างของบ้าน เพื่อปลดตัดกระแสไฟฟ้าบริเวณชั้นล่างของบ้าน และให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ชั้นบนของบ้านเท่านั้น

ห้ามใช้และสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดในขณะที่ตัวเปียกชื้น ยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะหรือตัวแช่อยู่ในน้ำ

ห้ามนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาใช้งานเด็ดขาด

ทั้งนี้ ให้เพิ่มความระมัดระวังการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณที่ชื้นแฉะเป็นพิเศษ เช่น ปั๊มน้ำ เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล จะทำให้ได้รับอันตรายได้

หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ห้ามซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้

ก่อนนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้งาน ควรตรวจสอบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้า อยู่ในสภาพปลอดภัย เมื่อเปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วพบสิ่งผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นไหม้ มีเสียงดังมาจากเครื่อง เป็นต้น ให้หยุดใช้งานในทันที พร้อมนำไปให้ช่างผู้ชำนาญการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัย

นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า กรณีพบเห็นเสาไฟฟ้าทรุด ล้ม หรือสายไฟฟ้าขาด ต้นไม้ล้มทับเสาไฟฟ้า ห้ามเข้าใกล้และสัมผัสถูกสายไฟฟ้า หรือวัสดุที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ที่สำคัญ ในช่วงน้ำท่วม ขอให้ผู้ประสบภัยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำและพายเรือเข้าใกล้แนวเสาไฟฟ้า เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลหรือยังไม่ได้ตัดกระแสไฟฟ้า จะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต








ขอขอบคุณข้อมูลจาก




0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม