กลับมาอีกครั้งกับหัวข้อทอร์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ กับมาตรการลดหย่อนภาษีรถยนต์คันแรก
โดยล่าสุด…
มาตรการรถคันแรกวุ่นไม่จบ ค่ายรถออกมาใส่กันฝุ่นตลบ “ฟอร์ด” อ้างความเหลื่อมล้ำระหว่างเก๋งขนาด 1500 และ 1600 ซีซี จี้รัฐบาลยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว “ฮอนด้า” ยุหากจะปรับแก้ต้องยกเลิกขนาดเครื่องยนต์ คุมเฉพาะราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เช่นเดียวกับปิกอัพ ขณะที่ “มาสด้า” เห็นไม่ควรเปลี่ยน จะทำให้ประชาชนสับสน สวนฟอร์ดอ้างข้อมูลอ้างอิงคลาดเคลื่อน
หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการคืนเงินภาษีรถคันแรกไม่เกิน 1 แสนบาท เมื่อวันอังคารที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา สำหรับประชาชนผู้ซื้อรถยนต์นั่ง หรือเก๋งคันแรก ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1.5 ลิตร และปิกอัพราคาไม่เกิน 1 ล้านบาททุกประเภท โดยต้องเป็นรถประกอบในประเทศเท่านั้น จนทำให้เกิดเสียงท้วงติงจากบริษัทรถที่นำเข้า ว่าเป็นการกีดกันการค้าทางอ้อม ผิดข้อตกลงเปิดเสรีการค้า
เช่นเดียวกับผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรถไทย หวั่นหลังจากครบ 1 ปี จะทำให้ผู้ซื้อทิ้งรถเมื่อได้รับเงินคืนภาษี จนที่สุดกรมสรรพสามิตต้องยอมให้ลิสซิ่ง สามารถยึดรถ และขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องรอให้ครบ 5 ปีจึงจะเปลี่ยนโอนชื่อตามข้อกำหนดได้ แต่ดูเหมือนปัญหาจะยังไม่จบ และสร้างความสับสนมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยฟอร์ด มอเตอร์ ได้มีคำแถลงต่อกรณีดังกล่าวว่า มาตรการภาษีของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการมีรถยนต์คันแรกในประเทศไทย ไม่ควรก่อให้เกิดการบิดเบือนการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด และควรได้รับการบังคับใช้อย่างเสมอภาค เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศไทยสามารถตัดสินใจซื้อสินค้า โดยได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน
ทั้งนี้ มาตรการรถคันแรกในปัจจุบัน จำกัดให้รถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1500 ซีซีเท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับการคืนเงินภาษี แต่ฟอร์ดขอชี้แจงรถที่ประหยัดน้ำมัน และมีอัตราการปล่อยมลภาวะในระดับต่ำ อย่างฟอร์ด เฟียสต้า ขนาด 1600 ซีซี ที่ผลิตในประเทศไทย กลับไม่ได้รวมอยู่ในมาตรการดังกล่าว ทั้งที่ประหยัดน้ำมัน และลดการปล่อย CO2 ในระดับที่เหนือกว่ารถคู่แข่งทั้งหมด ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 1500 ซีซี ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของมาตรการคืนเงินภาษีนี้
นอกจากนี้ เฟียสต้ารุ่นเครื่องยนต์ 1600 ซีซี ยังตั้งราคาเริ่มต้นที่ 644,000 บาท นับว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่ารถขนาดเครื่องยนต์ 1500 ซีซีบางรุ่นด้วยซ้ำ
ดังนั้น การกำหนดข้อจำกัดขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1500 ซีซี ทำให้มาตรการจูงใจด้านภาษีนี้ ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกในประเทศไทย เลือกขับรถที่ประหยัดน้ำมันน้อยกว่า และยังอาจเป็นรถที่มีราคาแพงกว่าอย่างไม่ตั้งใจ เพื่อมอบความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย และสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานของรัฐบาล ฟอร์ดจึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกเกณฑ์ในการกำหนดขนาดของเครื่องยนต์ที่ 1500 ซีซี
ส่วนนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด (Honda Automobile (Thailand) Co. Ltd.) เปิดเผยว่า เกี่ยวกับมาตรการคืนเงินภาษีรถคันแรกของรัฐบาล ฮอนด้ารับได้เกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ แต่จากการที่มีบางบริษัทออกมาเรียกร้อง ให้ตัดข้อกำหนดขนาดเครื่องยนต์ 1500 ซีซี ของรถยนต์นั่งหรือเก๋งออกไป เพื่อให้ครอบคลุมเก๋งขนาด 1600 ซีซี ดูเหมือนจะทำให้เกิดปัญหาตามมาไม่รู้จบ
“หากรัฐบาลจะปรับแก้ขนาดเครื่องยนต์ 1500 ซีซี ไปเป็น 1600 ซีซี เรื่องนี้ฮอนด้าไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง เพื่อนำไปสู่อีกปัญหาใหม่ตามมา ซึ่งจะทำให้ค่ายรถที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ออกมาเรียกร้องอีกไม่รู้จบ ดังนั้น ฮอนด้าเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรจะแก้ไข หรือหากจะปรับแก้ต้องตัดเงื่อนไขขนาดเครื่องยนต์ทิ้งไปเลย และมากำหนดที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เหมือนปิกอัพแทน”
โดยตามมาตรการรถคันแรกปัจจุบัน รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขปิกอัพต้องมีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท และไม่จำกัดว่าจะเป็นเครื่องยนต์ขนาดเท่าใด ซึ่งหากจะแก้ไขในส่วนของเก๋ง ควรจะใช้เกณฑ์เดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และสร้างปัญหาใหม่ตามมาอีก ขณะที่ข้ออ้างเรื่องมลพิษและการประหยัดน้ำมัน ไม่น่าจะใช้วัตถุประสงค์หลักของมาตรการคืนเงินภาษีครั้งนี้ แต่ยืนยันรถยนต์ฮอนด้ามีอัตราสิ้นน้ำมัน และปล่อยมลพิษที่ต่ำ พิสูจน์จากการตอบรับของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ด้าน น.ส.สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mazda Sales (Thailand) Co. Ltd.) เปิดเผยว่า มาตรการคืนเงินภาษีรถคันแรก เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา และประชาชนให้การตอบรับอย่างดี จึงไม่ควรจะเข้าไปปรับหรือแก้ไขในช่วงนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความมาสด้าจะเสียประโยชน์ ถึงแม้จะปรับตามที่หลายบริษัทเรียกร้อง มาสด้าก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีรถที่เข้าเกณฑ์ตามหลายค่ายเสนออยู่แล้ว
“แต่มาสด้าต้องการให้เกิดความนิ่ง ไม่สร้างความสับสนกับประชาชน และตามวัตถุประสงค์ของมาตรการรถคันแรก ที่ต้องการลดภาระผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเก๋งจะอยู่ระหว่างขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1500 ซีซี แตกต่างจากปิกอัพที่สามารถทำมาหากิน สร้างรายได้ สร้างงาน และเศรษฐกิจ จึงเห็นด้วยกับการกำหนดปิกอัพราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท”
สำหรับกรณีที่บริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลพร้อมรายละเอียดของรถยนต์ ซึ่งในนั้นเป็นสเปคของรถมาสด้า 2 ที่มีจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ อันเป็นข้อมูลที่คาดเคลื่อน จากข้อมูลของรถที่จำหน่ายในประเทศไทย และมาสด้ายืนยันว่ารถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์ 1500 ซีซี เป็นรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดน้ำมัน
ซึงสามารถเห็นได้จากการเป็นเจ้าของรางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมของโลก ปี 2008 และรางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมจากทั่วโลกถึง 57 รางวัล และตลอดช่วง 2 ปีที่ทำตลาดในไทย ลูกค้าให้การตอบรับพิสูจน์ได้จาก ยอดขายมากกว่า 40,000 คัน
อย่าพลาดติดตามข่าวสารการเปิดตัวรถใหม่ รวมถึงความเคลื่อนไหวในวงการรถยนต์ทั้งไทย และต่างประเทศได้ใหม่กับ Thaicarlover.com ครับ