แต่งอพาร์ตเม้นท์เก่าและทรุดโทรมให้กลับดูใหม่ไฉไลกว่าเดิม


ถ้าพูดถึงคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเม้นท์คุณคงนึกถึงห้องพักเล็ก ๆ ย่านใจกลางเมือง มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตึกสูงและวิวท้องถนน แม้จะอยากมีพื้นที่สีเขียวก็คงทำได้แค่แขวนหรือประดับต้นไม้เล็ก ๆ ไว้ตามระเบียงเท่านั้น แต่ถ้าคุณได้เห็นห้องพักขนาดย่อมห้องนี้คุณจะลืมความคิดเดิมไปทันที ถ้าไม่เชื่อก็ลองมาพิสูจน์กัน

ห้องสตูดิโอขนาด 70 ตารางเมตร ที่ตั้งอยู่ในเมืองไทเป ประเทศไต้หวัน เป็นของ Mr.Lin Shanhsien มัณฑนากรหนุ่ม เขาใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ก่อนตัดสินใจซื้อห้องพักในอพาร์ตเมนต์เก่าและทรุดโทรม ซึ่งมีอายุกว่า 30 ปี แห่งนี้ เหตุผลเพียงข้อเดียวที่เขาเลือกห้อง ๆ นี้ ก็เพราะสามารถมองเห็นวิวต้นไม้น้อยใหญ่บนภูเขาลูกเล็ก ๆ ได้เต็มตา

เนื่องจากอยู่ติดกันกับเขตอนุรักษ์ ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถตัดต้นไม่เหล่านี้ได้ และยังไม่ต้องกลัวว่าวันหนึ่งที่ดินและต้นไม้เหล่านี้จะกลายร่างเป็นร้านอาหารหรือธุรกิจอื่น ๆเมื่อได้เป็นเจ้าของห้องชุดห้องนี้ Mr.Lin ก็จัดแจงดำเนินการปรับผังใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่มีห้องนอนจำนวน 2 ห้องก็สั่งให้ช่างทุบผนังทิ้งเกือบหมดเหลือเพียงห้องนอน 1 ห้อง จากนั้นก็เปิดพื้นที่ทั้งหมดให้โปร่งโล่ง มีแพนทรี่เล็ก ๆ และโต๊ะตัวใหญ่ใช้นั่งรับประทานอาหารและประชุมงาน ออกแบบมุมพักผ่อนแบบง่าย ๆ เพียงจัดวางโซฟาขนาดเล็กเอาไว้เท่านั้น ส่วนมุมทำงานก็เลือกใช้ผนังด้านหนึ่งทำเป็นชั้นวางหนังสือ และจัดวางโต๊ะที่ประกอบขึ้นจากไม้เก่ามีริ้วรอยที่เกิดจากการใช้งานซึ่งดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบ

"ไม้เก่าที่เห็นทั้งหมดนี้ผมได้มาจากเพื่อนซึ่งเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์เหมือนกัน เขาจะไปอยู่ประเทศจีน จึงให้ไม้ท่อนยาวมาทั้งหมด 6 ชิ้น ผมจึงนำมาทำเป็นชั้นวางของติดผนังและที่นั่งริมระเบียงด้านนอก ส่วนโต๊ะตัวใหญ่กลางห้องนี้ผมสั่งทำขึ้นจากคานไม้เก่าที่ได้จากบ้านของคนญี่ปุ่น เป็นไม้ 5 ชิ้นต่อกัน ผมออกแบบเองแล้วไปให้ช่างทำ ส่วนชิ้นที่ผมลงมือทำเองก็คือเตียงนอนและโซฟา"

Mr.Lin ออกแบบที่นี่โดยยึดโลเกชั่นของที่พักซึ่งมีวิวต้นไม้เขียวชอุ่มเป็นหลักในการออกแบบ โดยดึงเอาความเป็นธรรมชาติเข้ามาไว้ในที่พักให้มากที่สุด เขาใช้เวลาคิดและตัดสินใจอยู่สักพักทีเดียวว่าจะวางตำแหน่งห้องนอนไว้ตรงส่วนไหนของพื้นที่

"ถ้าผมวางตำแหน่งห้องนอนไว้ด้านหน้าผมก็จะเห็นวิวสวย ๆ ทุกเช้า แต่คิดไปคิดมาผมว่าห้องนอนมีไว้นอน เท่านั้น สุดท้ายผมก็เลยเลือกใช้พื้นที่ด้านหน้าเป็นมุมนั่งเล่นแทน ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นมุมโปรดของผมไปในที่สุด นอกเหนือจากห้องนอนจุดหนึ่งที่ผมคิดหนักก็คือทางเข้าห้อง ผมเปลี่ยนทางเข้าให้มันอยู่ไกลออกไป นั่นหมายถึงผมจะต้องเดินผ่านระเบียง สามารถมองเห็นต้นไม้และชมธรรมชาติก่อนเดินเข้าบ้านได้นานขึ้น เพียงแค่ไม่กี่วินาทีก็ยังดีครับ"

ห้องนี้มีผนังเพียงด้านเดียวที่สามารถมองเห็นวิวต้นไม้ได้อย่างเด่นชัด อีกสามด้านที่เหลือมีช่องแสงและหน้าต่างบานเล็ก ๆ เท่านั้น เจ้าของบ้านจึงออกแบบให้ผนังด้านนี้เป็นประตูทางเข้า ส่วนหน้าต่างก็เลือกใช้หน้าต่างบานเลื่อนกรุกระจกแบบเต็มบาน เพื่อให้มองเห็นวิวภายนอกได้เต็มตา วัสดุส่วนใหญ่ในห้องนี้เน้นวัสดุที่โชว์เนื้อแท้อย่างพื้นซีเมนต์ อิฐ ไม้เก่า และเหล็กขึ้นสนิม

"ในส่วนของระเบียงและประตูผมรู้สึกว่าเหล็กทั่วไป ๆ มันเงาวับสะท้อนกับแสงแดดแรงเกินไป ถ้าปล่อยให้ขึ้นสนิมก็จะดูเป็นธรรมชาติดี โดยรวมแล้วผมชอบที่นี่มาก ผมชอบอะไรที่เรียบง่าย ความหมายของบ้านหลังนี้ก็คือสตูดิโอทำงานที่สามารถใช้นอนได้ สะท้อนความเป็นผม มีพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสำหรับผม เช่นเดียวกับเวลาที่ออกแบบงานให้ลูกค้าก็ต้องทำให้เหมาะสมกับพวกเขาเช่นกัน"


ห้องพักเล็ก ๆ ห้องนี้ช่วยให้เขาได้เห็นต้นไม้สีเขียวในกรอบขนาดใหญ่ราวกับภาพวาดสีเขียวได้ทั้งวัน ไม่ว่าจะทำงานหรือพักผ่อน เขาก็สามารถมองเห็นภาพนี้ได้ตลอดเวลาเพียงแค่หันหน้ามาเท่านั้น ภาพวาดที่มีชีวิตภาพนี้ช่วยเพิ่มพลังในการทำงานและการใช้ชีวิตของเขาได้ดีจริง ๆ


"ผมชอบไฟแบบ Indirect Light ไม่ชอบแบบที่ส่องเห็นตรงๆ ตอนนี้กำลังหาโคมไฟตรงส่วนโต๊ะทานอาหารตัวนี้ แต่ยังหาไม่ได้สักที"

"ความจริงผนังด้านนี้เขาห้ามทุบหรือเจาะช่องใดๆ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของตัวตึก แต่ผมก็แอบทำ โชคดีที่ไม่มีใครสนใจ เพราะตึกนี้มันเก่ามากแล้ว"

"ถ้ามีครอบครัวผมคงจะซื้อห้องข้างบนแล้วออกแบบให้เป็นพื้นที่เดียวกัน หรือไม่ก็ต้องหาที่อยู่ใหม่ เพราะพื้นที่ตรงนี้มันเหมาะกับการอยู่คนเดียวมากกว่า"

"มีสองสิ่งที่ผมเก็บไว้จากห้องของเจ้าของเดิมคือกระจกในห้องน้ำ กับผนังตรงระเบียงเพื่อให้กลมกลืนกับตัวอาคารภายนอก"

1.เมื่อเปิดประตูห้องจะพบกับระเบียงที่มองเห็นวิวธรรมชาติสีเขียวอย่างเต็มตา ตกแต่งด้วยเก้าอี้ตอไม้ โดยนำไปวางไว้ตามมุมต่าง ๆ ส่วนพื้นก็ปูจากแผ่นไม้ให้ดูกลมกลืนและเป็นธรรมชาติ

2.ทางเข้าบ้านได้ทำที่วางรองเท้าแบบง่าย ๆ เอาไว้ ด้วยการนำแผ่นปูนและท่อนไม้มาประกอบขึ้นเป็นตู้ และทำที่นั่งเล็ก ๆ ให้ยาวตลอดแนวจากแผ่นไม้เก่า จะใช้วางต้นไม้หรือนั่งใส่รองเท้าก็ได้

3.มุมนั่งเล่นจัดวางโซฟาที่ Mr.Lin ออกแบบเอง ผนังและพื้นทำจากซีเมนต์ขัดมัน ด้านหลังเก้าอี้เป็นประตูบานเลื่อนตะแกรงเหล็กฉีกสามารถเลื่อนเพื่อกั้นพื้นที่ระหว่างห้องนั่งเล่นกับห้องนอนได้

4.ออกแบบเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าให้แยกออกจากห้องน้ำจึงใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น กรุเคาน์เตอร์ด้วยโมเสกกลมสีเขียวสดใส ส่วนด้านล่างของตู้เว้นให้เห็นเนื้อไม้เกิดพื้นผิวสองแบบที่ดูดิบและแปลกตา มุมนี้เด่นด้วยตู้กระจกเหนืออ่างที่เว้นช่องระยะห่างระหว่างท็อปเคาน์เตอร์กับตู้ลอยไว้เล็กน้อยช่วยให้ห้องดูโปร่งขึ้น

5.ด้านหลังเคาน์เตอร์ที่มีขนาดกว้างได้รับการออกแบบให้เป็นบานเปิด-ปิดใช้เก็บของต่าง ๆ ไว้ภายใน ถือเป็นการแบ่งพื้นที่ใช้งานภายในห้องได้อย่างชาญฉลาดจริง ๆ

6.โต๊ะรับประทานอาหารที่ใช้เป็นที่นั่งรับแขกและพูดคุยงาน ต่อขึ้นจากไม้ชิ้นใหญ่จึงใช้งานได้อเนกประสงค์กว้างขวาง ส่วนแพนทรี่ด้านในใช้แผ่นไม้ขนาดใหญ่ ออกแบบให้ยื่นออกมาจากเคาน์เตอร์เล็กน้อยเพื่อให้เหลื่อมกันกับโต๊ะรับประทานอาหาร สามารถใช้วางของและช่วยประหยัดเนื้อที่ได้

7.บริเวณริมหน้าต่างจัดวางชุดเก้าอี้สำหรับนั่งเล่นไว้หลายจุด เพื่อใช้นั่งชมวิวต้นไม้ได้ในทุก ๆ เวลา

8.แสงจากประตูบานเลื่อนที่ทำจากตะแกรงเหล็กฉีกช่วยให้มุมนี้ดูสวยมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น
9.พื้นที่ด้านข้างมุมทำงานออกแบบให้มีตู้บิลท์อินสูงจรดฝ้าใช้เก็บของต่าง ๆ

10.นำท่อนไม้เก่าที่ได้จากเพื่อนสนิทมาทำชั้นวางของเหนือโต๊ะทำงาน ให้บรรยากาศที่ดูเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

11. Mr.Lin กับมุมโปรดสามารถมองเห็นวิวต้นไม้และสูดอากาศบริสุทธิ์ได้เต็มปอด

12.ห้องนอนตกแต่งอย่างเรียบง่าย ผนังโดยรอบเป็นปูนซีเมนต์ดูดิบเท่ เพิ่มความอบอุ่นด้วยการปูพื้นไม้สีเข้ม ส่วนผ้าม่านเลือกใช้ผ้าผืนใหญ่สีม่วงยึดติดกับราวแขวนผ้า เมื่อต้องการเปิดให้แสงสว่างและอากาศสดชื่นลอดเข้ามาในห้องก็แค่จับรวบปลายผ้าไว้ด้านใดด้านหนึ่งแบบง่าย ๆ เท่านั้น

Good ideas

A.ก่ออ่างอาบน้ำปูนซีเมนต์ขัดมัน และทำแท่นเล็ก ๆ ไว้ภายในให้กว้าง 35 เซนติเมตร สำหรับใช้นั่งและวางของไปในตัว

B.ทำประตูกั้นแบ่งสัดส่วนระหว่างห้องนอนกับห้องรับแขกด้วยแผ่นตะแกรงเหล็กฉีกให้ดูโปร่งตาไม่ทึบตัน

C.ทำชั้นวางรองเท้าขนาดเล็กด้วยแผ่นปูนซีเมนต์หนาประมาณ 1 นิ้ว รองด้วยแท่นไม้ดูเรียบง่ายแต่ใช้งานได้ดีไม่แพ้กัน

D.ประตูทางเข้าทำจากแผ่นเหล็ก เพิ่มลูกเล่นด้วยการเจาะช่องตรงกลางเป็นแนวยาวกว้าง 5 - 6 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นมือจับที่ทั้งสวยและใช้งานได้สะดวกขึ้น

E.ออกแบบเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าให้มีขนาดกว้างกว่าปกติให้สามารถใช้งานได้ทั้งสองฝั่ง และยังเว้นช่องระหว่างตู้ลอยกับท็อปเคาน์เตอร์ให้ห่างกัน 30 เซนติเมตร สามารถมองทะลุผ่านได้ ช่วยให้ห้องเล็ก ๆ ดูโปร่งตามากยิ่งขึ้น

แปลน

1.ทางเข้าหลัก

2.ระเบียง

3.ทางเข้าห้อง

4.มุมนั่งเล่น

5.ห้องน้ำ

6.ห้องนอน

7.เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า

8.โต๊ะรับประทานอาหาร

9.มุมทำงาน

10.ครัวและแพนทรี่




0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม