จากโลตัสสู่รถบ้านอย่างโปรตอน


เรื่องหนึ่งที่มักจะถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องและถูกใช้เป็นประเด็นหลักที่ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ชูเป็นจุดเด่นทางการตลาด คือ เรื่องของการทำ Motorsport Campaign ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลอยู่เสมอในทุกยุคทุกสมัย

ชัยชนะในสนามแข่ง สามารถถูกนำมาอนุมานได้ระดับหนึ่งถึงความยอดเยี่ยมทางด้านเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตรถยนต์รายนั้นๆ มีอยู่ในมือ เพราะสนามแข่ง คือ สังเวียนและพื้นที่ชั้นดีในการทดสอบสมรรถนะในด้านต่างๆ ของเทคโนโลยียานยนต์ในชนิดที่สุดขั้ว ดังนั้น การขึ้นรับรางวัลบนโพเดี้ยมจึงสามารถถูกตีความหมายได้ถึงความยอดเยี่ยมและความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีอย่างไม่ต้องสงสัย

การนำแนวคิดที่ว่า ‘เทคโนโลยีจากสนามแข่ง’ มาใช้เป็นคำโปรยกับรถยนต์ที่ขายอยู่ในตลาดถือเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจต่อตัวผลิตภัณฑ์ และสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำว่า ‘เทคโนโลยีจากสนามแข่ง’ ได้เป็นอย่างดี และแนวคิดนี้ก็มีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์ยังวนเวียนอยู่กับการมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกอย่างฟอร์มูลา วัน หรือ F1

สำหรับโปรตอน ผู้ผลิตรถยนต์จากมาเลเซีย ก็มีส่วนร่วมในการแข่งขันประเภทนี้ด้วยเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมโดยตรงก็ตาม แต่เป็นการส่งผ่านทางบริษัทในเครืออย่างโลตัส คาร์ ซึ่งในปัจจุบันได้สนับสนุนทีมแข่งกับเรโนลต์ และลงแข่งภายใต้ชื่อโลตัส เรโนลต์ จีพี

งานนี้โปรตอนได้เชิญสื่อมวลชนชาวไทยได้ไปร่วมสัมผัสความเร้าใจในการแข่งขันฟอร์มูลา วัน รายการสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ ซึ่งเป็นการแข่งแบบ Night Race รายการเดียวของ F1 พร้อมกับปิดถนนเพื่อสร้างสนามแข่ง Marina Bay ขึ้นมาในการประลองความเร็ว

สำหรับสนามมาริน่า เบย์ เซอร์กิต เป็นสตรีทเซอร์กิต ที่มีระยะทางต่อรอบอยู่ที่ 5.073 กิโลเมตร และในรายการสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์มีการแข่งขันจำนวน 61 รอบสนาม รวมระยะทาง 309.316 กิโลเมตร พร้อมกับโค้งที่มีมากถึง 23 โค้งใน 1 รอบสนาม โดยนักแข่งที่ทำเวลาต่อรอบที่สนามแห่งนี้ดีที่สุดคือ คิมิ ไรก์โคเนน ทำเอาไว้ในปี 2008 ด้วยเวลา 1 นาที 45.599 วินาที

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ระบบส่องสว่างที่ทำให้สนามนี้มีความสว่างมากพอสำหรับการแข่งขันในตอนกลางคืนได้ เพราะรถแข่ง F1 ไม่มีไฟหน้า ดังนั้น การใช้ระบบส่องสว่างตามทางตลอดระยะ 5 กิโลเมตรกว่าๆ ถือเป็นงานที่ไม่ธรรมดาเลย

วิตาลี เปตรอฟ


บรูโน่ เซนน่า
ทางด้านนักแข่งของทีมโลตัส เรโนลต์ จีพี มีอยู่ 2 คนคือ วิตาลี เปตรอฟ เป็นนักแข่งชาวรัสเซีย ซึ่งในตอนนี้มีคะแนนสะสมอยู่ในอันดับที่ 9 ทำได้ 34 คะแนน ส่วนอีกคนเพิ่งจะมาลงแข่งได้ไม่กี่สนาม นั่นคือ บรูโน่ เซนน่า ซึ่งเป็นหลานชายของไอร์ตัน เซนน่า แชมป์โลก 3 สมัยชาวบราซิลที่ล่วงลับไปแล้ว

บรูโนเป็นนักขับทดสอบในทีมตอนช่วงต้นซีซั่น แต่ถูกดันเข้ามาแทนที่นิค ไฮด์เฟลด์ ซึ่งได้ถูกถอดออกจากการเป็นนักแข่งของทีม โดยเขาลงแข่งรายการแรกที่เบลเยี่ยม และในตอนนี้ทำได้ 2 คะแนนจากการเข้าอันดับที่ 9 ในรายการอิตาเลี่ยน กรังด์ปรีซ์ พร้อมกับได้รับการจับตามองว่าเขาจะสามารถวัดรอยเท้าอันยิ่งใหญ่ของน้าชายของเขาได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในสนามนี้ทั้งเปตรอฟ และบรูโนจะไม่สามารถทำผลงานได้ดี เพราะเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 17 และ 15 โดยตามหลังเซบาสเตียน เว็ตเทลผู้ชนะเลิศในสนามนี้ถึง 2 รอบสนาม แต่ทว่าตลอดการแข่งขันรถแข่งของโลตัส เรโนลต์ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันกับทีมระดับชั้นแนวหน้า และมีความทนทานในการแล่นจนจบการแข่งขันได้

แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำเทคโนโลยีจากสนามแข่ง F1 มาใช้ในการประยุกต์และต่อยอดกับการพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้ได้จริงกับรถยนต์บนท้องถนน เพื่อสร้างจุดเด่นในด้านสมรรถนะ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับโปรตอน แม้จะไม่ได้รับมาโดยตรง แต่ในฐานะที่เป็นแบรนด์ที่มีความเกี่ยวพันกับโลตัส และได้รับการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีรวมถึงการปรับเซตในเรื่องของระบบช่วงล่างจากแบรนด์รถสปอร์ตชั้นนำรายนี้ เชื่อว่ารถโปรตอน ก็ได้รับองค์ความรู้เหล่านี้มาปรับใช้กับตัวรถ…ไม่มากก็น้อย




0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม