ขึ้นภูดูตะวัน เดินเลียบผา แวะน้ำตก ที่ “ภูกระดึง”


ทิวทัศน์เมื่อมองลงไปจากหลังแป

ใกล้จะถึงสิ้นปีเข้าไปทุกทีแล้ว แบบนี้ก็เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ในหลายๆ พื้นที่ก็เตรียมตัวต้อนรับนักท่องเที่ยวกัน อย่างที่ “ภูกระดึง” แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตตลอดกาล ที่ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปีก็ยังคงมีเสน่ห์เชิญชวนให้ไปเยือนอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง

ในปี 2554 นี้ ภูกระดึงเริ่มเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนี้ฟ้าฝนอาจไม่เป็นในต่อการเดินทางท่องเที่ยว แต่หากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และมรสุมผ่านพ้นไป ผู้คนเริ่มมีกะจิตกะใจออกท่องเที่ยวพักผ่อนให้ลืมฝันร้าย ภูกระดึงก็จะกลับมาคึกคักรับหน้าหนาวอีกครั้งหนึ่ง

ลูกหาบผู้ทรงพลังแห่งภูกระดึง

สำหรับการเดินทางขึ้นไปพิชิตยอดภูกระดึง แน่นอนว่าเราต้องตั้งต้นการเดินทางกันที่ป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต ขอพิชิตภูกระดึง” มุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ยอดภูกระดึงที่ระดับความสูง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล เดินผ่าน “ซำแฮก” ที่ไม่ว่าจะขึ้นมาครั้งใดก็ได้หอบแฮกกันสมชื่อ

ลานกางเต็นท์ ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง

ผ่านซำต่างๆ ตามรายทางมาเรื่อยๆ ด้วยการเดินบ้างหยุดบ้างเป็นระยะ ก็มาถึงยัง “หลังแป” ที่หากมองลงไปจะพบกับทิวทัศน์เบื้องล่างอันกว่างไกลน่ายล รวมถึงป้ายไฮไลท์ “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” ซึ่งเป็นป้ายที่มองเห็นแล้วก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง และจากนี้ต่อไปก็เดินสบายๆ ไปอีก 3 กิโลเมตร จนไปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง

มิตรภาพต่างสายพันธุ์ ณ ลานกลางเต็นท์

เส้นทางท่องเที่ยวบนภูกระดึงในเส้นทางปกตินั้นแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ เส้นทางเลาะเลียบหน้าผา และเส้นทางน้ำตก ซึ่งหากจะไปในเส้นทางไหน ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก็จะมีข้อมูลไว้คอยบริการ มีแผนที่บอกพิกัดพร้อมทั้งระยะทางให้ทราบ เพื่อการวางแผนในการเดินทางของตัวเอง

“ตะลอนเที่ยว” ขอเริ่มเส้นทางในแบบตัวเองด้วยการดูพระอาทิตย์ตกดินที่ “ผาหมากดูก” ที่ ถึงแม้ว่าจะห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นบริเวณกางเต๊นท์ของเราเพียง 2.5 กิโลเมตร แต่ก็ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากการเดินมาเป็นการปั่นจักรยานไปแทน

ยามเช้าที่ผาหมากดูก จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชื่อบนภูกระดึง

ผาหมากดูกเป็นผาสำหรับชมพระอาทิตย์ตกดินที่ใกล้ที่พักมากที่สุด ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีเวลามากนัก หรือไม่อยากเดินไปไกลก็มาชมบรรยากาศพระอาทิตย์ตกดินสวยๆ กันได้ที่นี่ ที่เป็นลานหินกว้าง มีบริเวณให้ยืนให้นั่งกันได้สบายๆ ใครใคร่จะชื่นชมด้วยตาก็ตามใจ ส่วนใครจะบันทึกภาพเก็บไว้ก็ไม่ว่ากัน

ยามเย็นที่ผาหมากดูก

ส่วนเรื่องการไปดูพระอาทิตย์ขึ้นนั้น ก็ต้องพากันไปที่ “ผานกแอ่น” ตื่นกันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ใส่เครื่องกันหนาว พกไฟฉายส่องทาง แล้วก็พากันเดินหน้าไปที่ผานกแอ่น ที่พอไปถึงแล้วก็จะเห็นต้นสนต้นใหญ่ขึ้นอยู่ริมหน้าผา ฉากหลังเป็นดวงอาทิตย์กลมโตกำลังไต่ระดับขึ้นสู่ผืนฟ้า สีส้มอ่อน-แก่ที่ระบายทับไปกับสีฟ้านั้นเป็นภาพศิลปะที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ขึ้นมาให้ได้ชื่นชม

นักท่องเที่ยวปั่นจักรยานไปดูอาทิตย์อัสดงที่ผาหมากดูก

หลังจากฟ้าสว่างดีแล้ว ก็เดินมายัง “ลานพระแก้ว” ที่อยู่ห่างไปไม่ไกลนัก เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2436 บริเวณโดยรอบนั้นเป็นลานหินกว้างขวางที่มีดอกไม้เล็ก อย่างดอกดุสิตา ดอกเอื้องม้าวิ่ง ขึ้นอยู่เต็มพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้

พระพุทธรูปยืนที่ลานพระแก้ว

นอกจากจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้น-ลง กันแล้ว ในเส้นทางเลาะเลียบหน้าผานี้ก็ยังประกอบไปด้วยอีกหลายผา ซึ่งอยู่เรียงรายกันไปตามระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร เริ่มจากผาหมากดูก ที่ได้ไปดูพระอาทิตย์ตกกันแล้ว ตามมาด้วย “ผาจำศีล” ที่เป็นลานหินกว้าง ซึ่งหากมองไปทางด้านซ้ายของผาจำศีลก็ตะเห็นผาหมากดูกที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก

ตะวันเบิกฟ้าที่ผานกแอ่น

“ผานาน้อย” อยู่ถัดมาจากผาจำศีล ผานี้จะไม่ค่อยมีที่นั่งให้ชมทิวทัศน์สักเท่าไหร่ เพราะมีต้นไม้ใหญ่น้อยปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณ ส่วน “ผาเหยียบเมฆ” กลับแตกต่างออกไป เพราะมีลานหินริมหน้าผากว้างใหญ่ ไม่มีต้นไม้บดบังให้รำคาญใจ แล้วไปต่อกันที่ “ผาแดง” ที่อยู่ถัดไป

เส้นทางระหว่างผานาน้อย ผาเหยียบเมฆ ไปจนถึงผาแดง เป็นเส้นทางที่มีดอกไม้ป่าขึ้นให้เห็นกันแบบละลานตาทั้งสองข้างทางที่เดิน ผ่าน เมื่อนำมาประกอบกับทิวต้นสนที่ขึ้นเรียงรายกันก็ได้เห็นถึงความสวยสดแบบ ธรรมชาติ

ทุ่งดอกกระดุมเงินที่ขึ้นอยู่ตามรายทาง

จากผาแดง เราก็มาถึง “ผาหล่มสัก” หน้าผาที่ว่ากันว่า หากขึ้นภูกระดึงแล้วมาไม่ถึงผาหล่มสัก ก็เหมือนกับขึ้นมาไม่ถึงภูกระดึง โดยเฉพาะการที่จะต้องมาชมพระอาทิตย์ตกดินที่ผาหล่มสักแห่งนี้ เนื่องจากทัศนียภาพสวยงามจากกิ่งสนแผ่กว้างกลมกลืนกับลานหินที่ยื่นออกมารอง รับอย่างพอดิบพอดี ข้อแนะนำสำหรับคนที่จะไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่ผาหล่มสักนั้นควรเตรียมเสื้อ กันหนาวและไฟฉายสำหรับส่องทางไว้ให้พร้อม เพราะขากลับจากผาเพื่อไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวนั้นจะต้องมืดกลาง ทางอย่างแน่นอน

ผาหล่มสัก ไฮไลท์สำคัญแห่งภูกระดึง

อย่างที่บอกไปว่าเส้นทางบนภูกระดึงนั้นมีอีกหนึ่งเส้นทาง คือ เส้นทางสายน้ำตก ที่จะเริ่มกันตั้งแต่ “น้ำตกวังกวาง” ที่อยู่ใกล้กับที่พักมากที่สุด ระยะทางราวๆ 1 กิโลเมตรเท่านั้น เหตุที่ได้ชื่อว่าวังกวาง ก็เนื่องจากมีกวางชอบมากินน้ำในบริเวณนี้ น้ำตกวังกวางเป็นน้ำตกเล็กๆ ชั้นที่สูงที่สุดก็สูงประมาณ 7 เมตร และที่ด้านข้างของน้ำตกมีทางแคบๆ ให้ปีนขึ้นลงได้ทีละคน ส่วนที่ใต้น้ำตกนั้นจะมีหลืบหินที่ลักษณะคล้ายกับถ้ำใต้น้ำ

การเดินคือเรื่องปกติสำหรับคนที่ขึ้นมาบนยอดภูกระดึง

แล้วไปต่อกันที่ “น้ำตกเพ็ญพบใหม่” ซึ่งเกิดขึ้นจากลำธารวังกวาง ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมหนาแน่นทั้งสองฝั่งน้ำ ตัวน้ำตกลักษณะจะเป็นแผ่นหินโค้งเว้าขนาดใหญ่ ข้างๆ กันมีต้นเมเปิ้ลให้ร่มเงา ถ้าหากมาเยี่ยมเยือนน้ำตกแห่งนี้ในช่วง ม.ค.-ก.พ. ก็จะได้เห็นใบเมเปิ้ลสีแดงสดเต็มไปทั่วบริเวณ ทั้งบนต้นที่เปลี่ยนจากใบสีเขียวเป็นแดง และใบสีแดงที่ร่วงหล่นลงสู่ผืนน้ำตกเบื้องหน้า ตัดกับสีเขียวขจีของตะไคร่น้ำที่เกาะอยู่ตามโขดหิน เป็นความงามที่เก็บซ่อนอยู่ในผืนป่าบริสุทธิ์

น้ำตกเพ็ญพบใหม่

เส้นทางน้ำตกสายนี้ทอดยาวไปสู่ “น้ำตกโผนพบ” ที่ ไหลรินมาจากลำธารวังกวางเช่นเดียวกัน น้ำตกนั้นจะไหลลดหลั่นลงมาตามชั้นผาหินเล็กๆ หลายชั้น ก่อนจะไหลรวมกันเป็นม่านน้ำในชั้นสุดท้าย น้ำตกโผนพบถูกตั้งชื่อขึ้นเป็นเกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์เปี้ยนโลกคนแรกของไทย ที่ค้นพบน้ำตกแห่งนี้เป็นคนแรกในคราวที่ขึ้นมาซ้อมมวยให้ชินกับความหนาวเย็น ก่อนจะเดินทางไปชิงแชมป์ที่ต่างประเทศ

ส่วนที่ไม่ไกลกันนัก ก็จะมี “น้ำตกเพ็ญพบ” ตัว น้ำตกเป็นชั้นหินสามชั้น น้ำตกจะไหลลดระดับลงมาสู่แอ่งกว้างด้านล่าง ส่วนด้านบนตัวน้ำตกก็เป็นลานหินกว้างใหญ่ มีหลุมหินที่เกิดจากการกัดเซาะของสายน้ำมานานอยู่หลายหลุม

น้ำตกโผนพบ

เส้นทางสายน้ำตกเดินทางผ่านป่าทึบมาต่อกันที่ “น้ำตกถ้ำใหญ่” ที่กว้างใหญ่สมชื่อ ที่นี่ก็มีใบเมเปิ้ลสีแดงลอยวนเวียนให้ยลโฉมกันบนสายน้ำเช่นเดียวกับที่ น้ำตกเพ็ญพบใหม่ ใครที่ชอบถ่ายรูปก็มักจะแวะเวียนมาแชะภาพสีสันสวยงามของใบไม้เปลี่ยนสีเก็บ ไว้ดูยามคิดถึงภูกระดึง หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่เราขึ้นไปกี่ครั้งก็ยังไม่รู้จักเบื่อสักที

จากน้ำตกถ้ำใหญ่จะเป็นเส้นทางออกไปสู่ป่าสน ซึ่งไม่ไกลกันนักจะมีทางแยกบนลานหินเพื่อเดินไปสู่ “น้ำตกธารสวรรค์” ที่เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่ห่างจากที่พักเพียง 1.6 กิโลเมตร การจะเข้าไปยลน้ำตกธารสวรรค์ใกล้ๆ นั้นจะต้องเดินลงไปข้างล่าง เผื่อสัมผัสความสดชื่นแบบใกล้ชิด

ชุ่มฉ่ำกับสายน้ำตกเพ็ญพบ

ขากลับ เราย้อนกลับมาทางเดิมจนถึงลานหิน แล้วตรงไปเพื่อจะกลับสู่ที่พัก ก็จะผ่าน “ลานพระศรีนครินทร์” ลานหินที่ประดิษฐาน “องค์พระพุทธเมตตา” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2463 โดยที่ยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยดี ต่อมาในปี พ.ศ.2526 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระและบริเวณโดยรอบ พร้อมทั้งทรงเสด็จมาเบิกพระเนตร และสวมเกศ รวมถึงพระราชทานพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเมตตา”

เดินทางกลับสู่ที่พักบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง เราก็กลับมาพักผ่อนเอาแรง ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะใช้พละกำลังที่เหลือในร่างกาย เดินกลับลงไปสู่ด้านล่าง อำลาภูกระดึงในครานี้ เพื่อจะเจอกันใหม่ในวันข้างหน้าถ้ามีโอกาส

นักท่องเที่ยวสักการะองค์พระพุทธเมตตาเพื่อความเป็นสิริมงคล

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การเดินทางขึ้นไปบนภูกระดึงนั้นควร ติดต่อเจ้าหน้าที่และวางแผนการเดินทางล่วงหน้า และต้องสำรองการใช้บริการก่อน เพราะทางอุทยานฯ มีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่วันละ 5,000 คน

นอกจากสองเส้นทางท่องเที่ยวที่นำเสนอ ในข้างต้นแล้ว ภูกระดึงยังมีเส้นทางท่องเที่ยวป่าปิด ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษบนภูกระดึง เป็นเขตป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางธรรมชาติสูง ทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเฉพาะในฤดูร้อน ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. เท่านั้น

สำหรับค่าธรรมเนียมในการเข้าอุทยาน แห่งชาติภูกระดึง คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท และเด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติผู้ใหญ่ 400 บาท และเด็ก 200 บาท ค่ายานพาหนะ 30 บาท ต่อคัน และค่าจ้างลูกหาบ ราคากิโลกรัมละ 15 บาท สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติ ภูกระดึง โทร. 0-4287-1333, 0-4287-1458 หรือที่ www.dnp.go.th




0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม