ค่ายรถแนะ รถคันแรก ใช้เกณฑ์เดียวกัน ราคาไม่เกิน 1 ล้าน


Honda brio


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ผู้ประกอบการค่ายรถยี่ห้อดังทั้งหลาย เชื่อแนวคิดเพิ่มขนาดเครื่องยนต์เป็น 1.6 ลิตร ไม่ได้แก้ปัญหารถคันแรก แนะใช้กฎราคา 1 ล้านเหมือนปิกอัพดีกว่า

จากการที่รัฐบาลได้เสนอแนวคิดการเพิ่มขนาดเครื่องยนต์เพื่อจะขยายสิทธิ์ในโครงการรถคันแรกจาก 1,500 ซีซี. เป็น 1,600 ซีซี. นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า หากมีการปรับเปลี่ยนจริง ไม่ควรยึดขนาดกระบอกสูบเป็นหลัก แต่ควรจะนำเกณฑ์ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทมาใช้เช่นเดียวกับที่กำหนดใช้ในกลุ่มรถปิกอัพ ซึ่งรถปิกอัพเองก็ไม่ได้กำหนดซีซีเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังเห็นว่า การทำเช่นนี้จะไปสร้างปัญหาให้กลุ่มรถคอมแพคท์แทน ซึ่งมันจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

นายพิทักษ์ กล่าวว่า จากการประชุมหารือสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ไทยเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า หากจะกำหนดแนวทางที่จะก่อให้เกิดเงื่อนไขน้อยที่สุด ก็คือ แนวทางการกำหนดราคา 1 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ได้ลงมติแต่อย่างใด โดยจะปล่อยให้แต่ละค่ายรถสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามอิสระ

นอกจากนี้ นายพิทักษ์ ยังแสดงความเห็นว่า โครงการรถคันแรกนี้ จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในช่วงสั้น ๆ ได้ แต่ก็ต้องติดตามดูว่า กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้จะดึงตลาดในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งถ้าสามารถดึงตลาดได้จริงก็จะกระทบต่อโครงสร้างตลาดในอนาคต แต่คงจะไม่ถึงขั้นกระทบต่อแผนการใหญ่ ๆ ของบริษัทผู้ประกอบการ

ส่วนทางด้าน นายวิกรานต์ อมาตยกุล ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมากล่าวถึงเงื่อนไขใหม่นี้ว่า มิตซูบิชิ จะได้ประโยชน์จากแนวคิดการเพิ่มเครื่องยนต์มาเป็น 1,600 ซีซี.นี้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีรถกลุ่มนี้ทำตลาดคือ แลนเซอร์ ซีเอ็นจี จากที่ก่อนหน้านี้ มิตซูบิชิ ไม่มีรถยนต์นั่งที่ได้รับสิทธิ์เลย มีเพียงรถปิกอัพไทรทันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายวิกรานต์ ก็เห็นว่า การปรับเพิ่มขนาดเครื่องยนต์เช่นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา นั่นก็คือ ไปส่งผลกระทบต่อรถที่อยู่ในกลุ่มคอมแพคท์ ดังนั้นจึงเห็นว่า หากจะใช้ราคาจำหน่ายเป็นตัวกำหนดก็น่าจะดีกว่า เพราะขณะนี้รัฐกำหนดราคาปิกอัพไม่เกิน 1 ล้านบาท ก็คิดว่าน่าจะกำหนดรถยนต์ที่ 1 ล้านบาทได้เช่นกัน

ด้านนายประพัฒน์ เชยชม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาตรการการเพิ่มขนาดเครื่องยนต์ดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้ความได้เปรียบเสียเปรียบในตลาดลดลงแต่อย่างใด เนื่องจากมีค่ายรถยนต์ที่ทำตลาดเครื่องยนต์นี้ไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น ในส่วนของนิสสันเอง ก็มี ทีด้า 1,600 ซีซี. ทำตลาด แต่ช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เน้นและเริ่มถอยออกจากตลาดนี้แล้ว เน้นแต่รุ่น 1,800 ซีซี. เท่านั้น ทั้งนี้นายประพัฒน์ยังมองอีกว่า หากรัฐต้องการช่วยให้คนซื้อรถ ก็คือสนับสนุนในจำนวนเงินเท่ากันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถอะไรก็ตาม ซึ่งจะทำให้โครงสร้างตลาดไม่เสียอีกด้วย



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม