น้ำประปาเมืองกรุงยัง“ดื่ม”ได้?


ไขข้อข้องใจ น้ำประปาเมืองกรุงยังดื่มได้ไหม? และทำอย่างไรเพื่อกำจัดกลิ่น-ลดสีน้ำประปาให้สามารถบริโภคได้อย่างมั่นใจ

คนกรุงคงแทบไม่เคยประสบปัญหามีน้ำ(รอบบ้าน)แต่ขาดน้ำ(ดื่ม)เช่นนี้มาก่อน ถึงจะมีเงินก็หาซื้อลำบาก เพราะติดปัญหาเรื่องการผลิตและขนส่ง แม้ขณะนี้ภาครัฐจะออกมาบอกให้ดื่มน้ำประปา แต่หลายคนคงกังขากับความสะอาดของน้ำ เพราะคิดว่าน้ำประปาไม่สะอาดเช่นยามปกติ

อย่างไรก็ตาม น้ำสำคัญต่อชีวิตมาก หากขาดอาหารมนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 7 วัน แต่หากขาดน้ำ จะดำรงชีวิตอยู่ได้เพียง 3-5 วันเท่านั้น เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย แต่น้ำที่ไม่สะอาดก็อาจคร่าชีวิตได้เช่นกัน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกบ่งชี้ว่า ในแต่ละปีประชากรบนโลกเสียชีวิตจากโรคภัยที่เกิดจากน้ำมากกว่าจากสงครามและความขัดแย้งด้วยซ้ำไป

และหากยังจำกันได้ เมื่อต้นปี 2553 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศเฮติ นอกจากชาวเฮติจะต้องเผชิญความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยแล้ว หลังเหตุการณ์ประชาชนยังต้องมีชีวิตอย่างยากลำบาก ปัญหาใหญ่คือขาดแคลนน้ำสำหรับบริโภคที่สะอาด มีเชื้ออหิวาต์ปนเปื้อนในน้ำดื่ม ส่งผลให้มีผู้ป่วยจากโรคอหิวาตกโรคกว่า 140,000 คน และมีผู้เสียชีวิตถึง 3,300 คน



เมื่อเทียบกันแล้ว สถานการณ์ในประเทศไทยยังดีกว่านั้นมาก เพราะยังมีระบบน้ำประปาที่ใช้การได้

แต่สำหรับผู้ที่กำลังกังวลใจในเรื่องมาตรฐานความสะอาด “คุณจงกลนี อาศุเวทย์” ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพน้ำ การประปานครหลวง(กปน.)ยืนยันว่าน้ำดิบยังอยู่ในเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่นำมาผลิตน้ำประปาได้ ตรวจสอบในห้องแล็ปแล้วไม่มีสารพิษทางการเกษตรที่จะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือโลหะหนักที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม กปน.ยอมรับว่าเกิดกลิ่นและสีในน้ำประปาจริง ซึ่งเป็นเพียงคุณลักษณะทางกายภาพ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัย เพราะเป็นแค่สัมผัสทางด้านจิตใจที่จะดูไม่น่าดื่มน่าใช้ ซึ่งน้ำในปัจจุบันก็มาจากน้ำฝน แต่ไหลผ่านการหมักหมมของพืชหญ้าที่เน่าเปื่อย รวมถึงผ่านบ้านเรือนประชาชน ทำให้มีสีที่เข้มขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีสารพิษ

ส่วนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงคือเชื้อโรคทั้งหลาย ซึ่งกปน.ตรวจไม่พบเชื้ออี-โคไล หรือเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร และใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคค่อนข้างเยอะ สังเกตได้ว่าน้ำประปาในช่วงนี้มีกลิ่นคลอรีนรุนแรง

นอกจากนี้ กปน.ได้เติมสารเคมีที่เหมาะสมลงไปเพื่อปรับแต่งให้คุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์

สารเคมีแต่ละตัวที่เติมก็ตรวจสอบก่อนว่าใช้ในปริมาณที่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งมีการทดลองในห้องแล็ปทุกวัน วันละหลายรอบ และไม่ใช่หน่วยงานของ กปน.เท่านั้นที่เก็บตัวอย่างน้ำประปาไปตรวจสอบ ยังมีกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ยังตรวจสอบคุณภาพน้ำ หากไม่ได้ตามเกณฑ์ต้องสั่งให้กปน.หยุดผลิตน้ำประปาแน่นอน

สำหรับเรื่องสีและกลิ่นจำกัดค่อนข้างยาก แต่การทดสอบสีน้ำประปาของ กปน.แม้กระทั่งในห้องแล็ปก็มีเครื่องวัด หน่วยจะออกมาเป็นสีน้อยกว่า 15

แต่การดูด้วยตาค่อนข้างลำบาก กลิ่นก็ไม่มีเครื่องมือชนิดไหนที่ทดสอบได้ ต้องทดสอบด้วยจมูก ซึ่งการทดสอบกลิ่นและรสชาติใช้ระบบ “ไบลด์ เทสต์”คือนำตัวอย่างน้ำมา แต่ไม่บอกว่าเป็นน้ำจากที่ไหน
ให้ผู้ทดสอบดมกลิ่นและชิมรสดูว่าน้ำชนิดไหนดีที่สุด ซึ่งเป็นการทดสอบโดยใช้ความรู้สึก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ดื่มจะรับได้ไหม เป็นเรื่องทางจิตใจล้วนๆ

หากลองย้อนดูในสมัยปู่ยาตายาย หรือชาวบ้านที่ใช้หลังคามุงจาก เมื่อฝนตกลงมา น้ำก็จะเป็นสีชาซึ่งทุกคนยอมรับว่าดื่มได้

เพราะหลังคามุงจากจะให้น้ำเป็นสีชา แม้กระทั่งการใส่ใบชาลงไปในน้ำ น้ำก็จะมีสีชา ใส่น้ำหวานสีแดงลงไปในน้ำ น้ำก็จะมีสีแดง ซึ่งทุกคนยอมรับว่าดื่มได้ จะเห็นได้ว่าสีเป็นลักษณะที่สัมผัสด้วยสายตาเท่านั้น ยอมรับว่าน้ำประปาไม่เหมือนกับน้ำชาหรือน้ำแดง แต่ปัจจุบันน้ำบรรจุขวดขาดแคลนและราคาแพง น้ำประปาสะอาดและมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณพอเหมาะ แต่ราคาถูก หากไม่รังเกียจกลิ่นและสีแนะนำให้ดื่มน้ำประปา

ส่วนประชาชนที่ยังไม่มั่นใจว่าจะดื่มน้ำประปาได้ไหม ผอ.ฝ่ายคุณภาพน้ำ กปน.มีข้อแนะนำในการทำความสะอาด กำจัดกลิ่น ลดสี คืออาจนำน้ำไปต้มก่อน โดยต้มในภาชนะเปิด จะทำให้กลิ่นระเหยออกไป และฆ่าเชื้อโรคที่ประชาชนคิดว่าจะมีอีกรอบหนึ่ง ซึ่งการต้มในภาชนะเปิดจะช่วยกำจัดกลิ่นและลดสีไปได้บางส่วน

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์



0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม