ว่ากันว่าภายในยุคทศวรรษที่ 2010 จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก เพราะเครื่องยนต์สันดาปภายในที่เราคุ้นเคยมากกว่า 100 ปีมีแนวโน้มว่ากำลังจะถูกลดบทบาทลง และการขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่สะอาด (ในขณะใช้งาน) จะเริ่มทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนทั้งในเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เริ่มลดลงและมีราคาสูงขึ้น บวกกับความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้น
ผมไม่ได้บอกว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในลักษณะของการ 'ปฏิวัติ' ที่เปลี่ยนจากแบบหนึ่งมาสู่อีกแบบหนึ่งในรูปแบบทันทีทันใด แต่เราต้องยอมรับว่านับจากผ่านพ้นปี 2010 เป็นต้นมา รถยนต์ไฟฟ้าที่อาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) เริ่มมีให้เห็นในตลาดมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ หรือโปรดักชั่นคาร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นิสสัน ลีฟ
และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2015 เมื่อทางผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรปถือเป็นจุดเริ่มต้นในโครงการต่างๆ ของตัวเอง โดยเฉพาะทางรัฐบาลเยอรมนีที่ทุ่มเงินก้อนโตในการผลักดันโครงการรถยนต์พลังไฟฟ้าของตัวเองมีบทบาทมากขึ้น และคาดหวังว่าเมื่อถึงปี 2020 ประชากรบนท้องถนนของ BEV ในบ้านตัวเองจะต้องมีถึง 1 ล้านคันกันเลยทีเดียว
ถ้ามองในแง่ของการผลิตขายในตลาด รถยนต์ไฟฟ้าที่อาศัยกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด เพราะในช่วงกลางทศวรรรษที่ 1990 ทั้งจีเอ็ม EV1 และโตโยต้า RAV4 EV อาจจะรวมถึงโปรเจ็กต์ TH!NK ของฟอร์ดเข้าไปด้วย ก็เคยออกขายอยู่พักหนึ่ง แต่ก็จำกัดตลาดอยู่แค่ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ตลาดประเภทนี้จะถูกถอดปลั๊ก และจบลงอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ได้รับความนิยม (หรือเปล่า ?)
เหตุผลของความล้มเหลว...ถูกคาดเดากันไปต่างๆ นานาๆ เช่น ยังไม่ถึงเวลา เพราะในตอนนั้นราคาน้ำมันก็ไม่แพงมาก (ถ้ายังจำได้ บ้านเราน้ำมันลิตรละไม่ถึง 10 บาท ถูกกว่าน้ำเปล่าใส่ขวดซ่ะอีก) ไล่ไปจนถึงราคาของตัวรถที่ยังแพงเพราะแบตเตอรี่ ข้อจำกัดในเรื่องการใช้งานไม่ว่าจะเป็นระยะทาง และระยะเวลาในการชาร์จ
แต่ว่ากันว่าถ้าจะเอาให้ชัวร์ ลองไปหาแผ่น DVD ของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Who killed the electric car ? มาดู เพราะมีอีกแง่มุมหนึ่งของการให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน และตรงประเด็น
กลับมาที่เรื่องของรถยนต์ไฟฟ้ากันต่อ แม้ตลาดประเภทนี้จะเกิดมาก่อน (และดับไปก่อน) แต่การเข้ามาของลีฟก็ถือว่าเป็นตัวจุดประกายให้กับความสนใจและความตื่นตัวของรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยลีฟได้รับการยอมรับว่าเป็น Mass production EV หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการผลิตในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก
ในบ้านเราได้มีโอกาสสัมผัสกับลีฟมาแล้วในงานบางกอก อินเตอร์ชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2011 ซึ่งมีขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนใครที่อยากขับจริง ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะทางผู้นำเข้าอิสระอย่างบริษัท อีตั้น อิมปอร์ท จำกัด ได้นำลีฟออกมาให้บรรดาสื่อมวลชนชาวไทยได้ลองใช้งานกัน เพราะพิสูจน์ว่า รถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ ก็สามารถรองรับกับความต้องการของคนในปัจจุบันได้ไม่แพ้รถยนต์ทั่วไป
จุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนไร้มลพิษ
ลีฟ-LEAF เป็นชื่อย่อของคำว่า Leading Environmentally Friendly Affordable Family Car และเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ไม่มีการปล่อยไอเสียออกมาในระหว่างการใช้งาน หรือ ZEV-Zero Emission Vehicle โดยถูกเปิดตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 สิงหาคม 2009 จากนั้นอีกกว่า 1 ปี นิสสันถึงเริ่มวางขายอย่างเป็นทางการในตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป
ลีฟได้รับความสนใจอย่างมากและเป็นวงกว้าง เพราะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่แพง สามารถเป็นเจ้าของได้ โดยในสหรัฐอเมริกาขายด้วยราคา 32,780 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 983,000 บาท
แต่ภายใต้ราคาที่ถูกขนาดนี้ เป็นเพราะการอุดหนุนจากภาครัฐ เนื่องด้วยความต้องการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในยุโรป ที่ต้องการเห็นประชากรของรถยนต์พลังไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้น อย่างในสหรัฐอเมริกา ถ้าไม่มีการสนับสนุนด้านภาษี ลีฟจะมีราคาขายเฉียด 40,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.2 ล้านบาท
C-Car ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตัวรถเป็นแบบแฮทช์แบ็ก 5 ประตูที่มีหน้าตาสวยล้ำสมัย และได้รับการออกแบบตามแนวคิดของนิสสันที่เรียกว่า Smart Fluidity เน้นความโค้งในกลมกลืน และเส้นสายสุดสปอร์ต ขณะที่ไฟหน้าก็มีการใช้หลอดแบบพิเศษที่มีอัตราการกินไฟน้อยกว่าหลอดแบบฮาโลเจนถึง 50%
ส่วนไซส์ของตัวรถถือว่าอยู่ในคลาสคอมแพ็กต์ ระดับเดียวกับพวกฮอนด้า ซีวิค, โตโยต้า โคโรลล่า ตัวรถมีความยาว 4,445 มิลลิเมตร เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ส่วนแบตเตอรี่ถูกวางไว้ใต้พื้นห้องโดยสารไม่เข้ามารบกวนพื้นที่ใช้สอย 2,700 มิลลิเมตรของระยะฐานล้อก็เลยตอบสนองในด้านความกว้างขวางได้อย่างเต็มที่
ด้านหน้าจะกับช่องเติมน้ำมัน (ชาร์จกระแสไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งออกแบบให้เป็นกระจังไปในตัว โดยเมื่อเปิดขึ้นมา (อย่าตกใจที่ก้านดึงฝาเปิดในห้องโดยสารจะเป็นรูปถังน้ำมัน เพราะน่าจะเป็นสัญลักษณ์สากลที่เข้าใจได้ง่าย) จะพบกับช่องเสียบชาร์จไฟฟ้า
รูใหญ่เป็นแบบ Quick Charge ในโหมดนี้สามารถชาร์จจนเต็ม 80% ของแบตเตอรี่ภายในระยะเวลา 30 นาที แต่ดูยังแล้ว บ้านเราคงยากจะได้งาน เพราะนั่นหมายความว่าจะต้องมีอัตราการกินแอมป์ ในกระแสไฟฟ้าที่สูงมากๆ ประมาณ 125 แอมป์ และโวลต์ในระดับ 480V ซึ่งไฟฟ้าตามครัวเรือนไม่สามารถรองรับได้ ต้องไปตามโรงงานหรือสำนักงานที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าที่มีแอมป์สูงๆ หรือไม่ก็ต้องแท่นชาร์จสาธารณะเท่านั้น ถ้าจะใช้ในครัวเรือนก็ได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มซื้ออุปกรณ์ที่เรียกว่า DC Fast Charger ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 1.47 ล้านเยน หรือ 558,000 บาท
ส่วนรูเล็กเป็นแบบชาร์จปกติ ซึ่งสามารถเสียบเข้ากับไฟบ้านได้ โดยใช้เวลาในการชาร์จจนเต็ม 100% ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งตรงนี้สามารถสังเกตได้จากหลอดไฟสีฟ้าบนด้านหน้าของแผงหน้าปัด ที่จะติดจนครบ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการชาร์จผ่านไฟบ้าน คือ ด้วยเหตุที่ว่าหัวเสียบของตัวอะแดปเตอร์ติดรถเป็นแบบ 3 ขา ซึ่งถ้าบ้านไหนมีเต้าเสียบแบบ 3 ขาก็จบไป แต่เชื่อเลยว่าบ้านส่วนใหญ่จะเป็นเต้าเสียบแบบ 2 ขา และจำเป็นต้องใช้ตัวแปลงขาจาก 3 ให้เป็น 2 ขา
การเลือกใช้ตัวแปลงขาต้องเน้นคุณภาพที่ค่อนข้างสูง การใช้ตัวแปลงขาตัวละ 10-20 บาทที่ขายทั่วไปมีปัญหาแน่นอน เพราะความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นตรงตัวปลั๊กมีสูงมาก ถึงขนาดทำให้ตัวแปลงขาละลายคาปลั๊กเลย
กว้างขวางรับได้ทั้งคนและสัมภาระ
ด้วยระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,700 มิลลิเมตร และการจัดวางชุดแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนที่มีจำนวนทั้งหมด 48 โมดุล แต่ละโมดุลมี 4 เซลล์ รวมแล้วมีทั้งหมด 192 เซลล์ได้อย่างลงตัวนั้น ทำให้ส่วนเกินที่มีมากกว่ารถยนต์ซึ่งใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไม่รุกล้ำเข้ามากินพื้นที่ภายในห้องโดยสารมากนัก การสัมผัสกับความโอ่โถงจึงมีอย่างเต็มที่
ในส่วนของแผงหน้าปัด และแผงมาตรวัดของตัวรถมีการแยกส่วน และทำเป็น 2 ระดับ โดยส่วนล่างจะเป็นหน้าปัดสำหรับแสดงรูปแบบการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าว่าเป็นการชาร์จ หรือการขับ
ตามด้วยระดับของกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ในแบตเตอรี่ โดยจะแสดงผลในรูปแบบของระยะทางที่สามารถแล่นต่อไปได้จากการคำนวนผ่านปริมาณกระแสไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในแบตเตอรี่, หน้าจอแสดงรยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่จากจุดที่มีอยู่ในแบตเตอรี่ไปจนถึงระดับเต็ม แสดงผลในหน่วยของเวลาชั่วโมงทั้งจากการชาร์จไฟ 110 และ 220 โวลต์ และระดับอุณหภูมิของแบตเตอรี่ ซึ่งจากการทดลองใช้งานในตอนกลางวันท่ามกลางการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่นของกรุงเทพพบว่า ไม่มีปัญหาทางด้านความร้อนแต่อย่างใด
สำหรับหน้าจอด้านบนจะเป็นการแสดงผลความเร็ว เวลา และอุณหภูมิ รวมถึงรูปแบบการขับต่อการสตาร์ท 1 ครั้งว่าประหยัดหรือไม่อย่างไร โดยดูได้จากจำนวนต้นไม้ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ว่ามีกี่ต้น
ถึงจะเป็นรถไฟฟ้าแต่ก็เร้าใจ
เมื่อพูดถึงรถไฟฟ้า คนส่วนใหญ่มักจะนึกว่าเป็นรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เน้นในเรื่องสมรรถนะอะไรมากมาย แต่บอกได้เลยว่าคิดผิด
หน้าที่ในการขับเคลื่อนรถเป็นงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีกำลังสูงสุด 80 กิโลวัตต์ หรือ 110 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 28.5 กก.-ม. ให้การตอบสนองการขับเคลื่อนอันต่อเนื่อง และทรงสมรรถนะ โดยเฉพาะทอร์คที่มาตั้งแต่รอบต้นๆ เรียกว่ากดคันเร่งหนักๆ มีอาการหลังติดเบาะได้เหมือนกัน และสมรรถนะยิ่งแสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อกดคันเร่งอัดกับรถยนต์คอมแพ็กต์สักรุ่นเพื่อขึ้นสะพาน หรือเนินที่ชันๆ
สำหรับอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใช้เวลา 11 วินาทีกว่าๆ ถือว่าไม่ธรรมดาเลย ใกล้เคียงกับฮอนด้า ซีวิคเครื่องยนต์ 1,800 ซีซี ส่วนความเร็วสูงสุดถูกล็อกเอาไว้ที่ 158กิโลเมตร/ชั่วโมง
อัตราเร่งของ Nissan Leaf
400 เมตร 17.39 วินาที
200 เมตร 12.72 วินาที
100 เมตร 7.03 วินาที
0-140 กม./ชม. 22.85 วินาที
0-120 กม./ชม. 16.63 วินาที
0-100 กม./ชม. 11.08 วินาที
0-80 กม./ชม. 7.13 วินาที
0-60 กม./ชม. 4.32 วินาที
0-40 กม./ชม. 2.41 วินาที
0-20 กม./ชม. 0.96 วินาที
สำหรับตัวเลขระยะทางการวิ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้ง นิสสันเคลมว่าจะอยู่ที่ประมาณ 160 กิโลเมตร แต่จากการลองชาร์จจนเต็มจะพบว่าตัวเลขที่โชว์บนแผงหน้าปัดอยู่ที่ 188 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้จะแปรผันโดยขึ้นอยู่กับลักษณะการขับและสภาพเส้นทาง โดยหน่วยงานอย่าง EPA ในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า ตัวเลขที่แย่สุข คือ การขับท่ามกลางสภาพการจราจรที่แออัดอย่างหนัก และมีการเปิดแอร์ ซึ่งระยะทางที่ทำได้สูงสุด คือ 76 กิโลเมตรเท่านั้น
ดังนั้น ตอนที่ได้ลีฟมาขับ สิ่งที่กลัวและสร้างความกังวลมากคือ รถติดอย่างมากและอาจทำให้ไม่สามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้ แต่ประเด็นนี้กลับไม่น่ากลัวเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับการที่จะต้องขับบนทางตรงโล่ง ซึ่งต้องใช้กำลังใจอย่างมหาศาลในการยับยั้งไม่ให้เท้าขวากดคันเร่งอย่างหนักจนเกินไป
ม้าต้องกินหญ้า เครื่องยนต์สันดาปต้องกินน้ำมัน และแน่นอน มอเตอร์ไฟฟ้าต้องกินไฟ
เท่าที่ทดสอบและสังเกตพบว่าเมื่อแล่นอยู่ในระดับความเร็วคงที่ 158 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดของตัวรถ ดูเหมือนว่าขีดบอกจำนวนระยะทางที่แล่นได้จะลดลงอย่างรวดเร็วยังกับท่อน้ำรั่วในอัตรา 1 กิโลเมตรต่อ 2 วินาที
นั่นหมายความว่าถ้ามีกระแสไฟฟ้าเหลืออยู่ในแบตเตอรี่สำหรับเอาไว้แล่นได้ 160 กิโลเมตร เท่ากับว่าแบตเตอรี่จะหมดลงในเวลา 5 นาที 33 วินาทีเท่านั้นเอง
ส่วนการขับในเมืองกับสภาพการจรจาจรติดขัดไม่ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะการกินไฟอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งตัวระบบยังมีการเปลี่ยนสถานะของมอเตอร์ไฟฟ้าจากการขับมาเป็นชาร์จเมื่อมีการถอนคันเร่ง และใช้พลังงานที่เกิดขึ้นจากการเบรกเปลี่ยนมาเป็นการชาร์จกระแสไฟฟ้าทำให้สามารถชดเชยในส่วนที่ถูกใช้ไปได้
ดังนั้น ความน่ากลัวในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้อยู่ที่ระยะทางในการแล่นต่อการชาร์จ 1 ครั้ง แต่อยู่ที่การจะต้องยับยั้งชั่งใจและเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถยนต์ที่ฝังรากลึกมานานมากกว่า
นอกจากนั้น ด้วยความที่บ้านเรายังไม่มีแท่นชาร์จสาธารณะให้บริการ และสภาพการจราจรก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจึงเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้รถกันเลย เพราะเมื่อถึงที่หมาย การมองหาปลั๊กเพื่อเสียบชาร์จไฟถือเป็นเรื่องที่พึงกระทำ รวมถึงจะต้องการวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบ ไม่อย่างนั้นแล้ว อาจจะต้องมีลุ้นระหว่างทางได้
สำหรับคนที่สนใจ แม้ทางอีตั้น อิมปอร์ทไม่ได้บอกถึงราคาของนิสสัน ลีฟที่นำเข้ามา แต่ถ้าคิดตามหลักตรรกะง่ายๆ แต่ค่อนข้างได้ผลตรง ถ้าราคาของลีฟที่ขายในญี่ปุ่นอยู่ที่ 3.76 ล้านเยน(หลังหักภาษีแล้ว) ค่าตัวของลีฟที่ขายในบ้านเราแบบผ่านการจ่ายภาษีนำเข้าครบก็อยู่ราวๆ นั้นแหล่ะ เพียงแต่เปลี่ยนจากหน่วยเงินมาเป็นบาท
เรื่อง : สุรศักดิ์ จรินทร์ทอง
ภาพ : ธัชนนท์ ตาปนานนท์
ขอขอบคุณบริษัท อีตั้น อิมปอร์ท จำกัด
รายละเอียดทางเทคนิค : Nissan Leaf
แบบตัวถัง : แฮทช์แบ็ก 5 ประตู
เครื่องยนต์ : มอเตอร์ไฟฟ้า
กำลังสูงสุด : 110 แรงม้า
แรงบิดสูงสุด : 28.5 กก.-ม.
แบตเตอรี่ : ลิเธียม-ไอออน 24 kWh
ระบบส่งกำลัง : เกียร์จังหวะเดียว
ระบบส่งกำลัง : แร็คแอนด์พิเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า
ระบบกันสะเทือนหน้า : แม็คเฟอร์สันสตรัท เหล็กกันโคลง
ระบบกันสะเทือนหลัง : ทอร์ชันบีม เหล็กกันโคลง