ในภาษาการแพทย์ใช้คำเรียกภาวะนี้ว่า gender identity disorder (GID)ขณะที่สมัยก่อนจะใช้คำว่า transsexualism แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้เท่าไรแล้ว ในบทความนี้จึงขอใช้คำว่า GID เป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงคำประเภท ตุ๊ด กะเทย แต๋ว หรือหญิงข้ามเพศ ซึ่งบางคำอาจฟังไม่ไพเราะ และเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน พัฒนาการด้านเพศของเด็ก โดยปกติจะพบว่า
อายุ 2-3 ปี เด็กจะเริ่มรู้จักเพศตนเอง บอกเพศตนเอง และผู้อื่นได้ อายุ 3-5 ปี เริ่มเลียนแบบบทบาททางเพศของพ่อหรือแม่ที่เป็นเพศเดียวกัน อายุ 6-12 ปี เริ่มเลียนแบบคนรอบๆ ตัว ต่อมาเริ่มมีกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกัน ส่งเสริมพฤติกรรมกันและกัน อายุ 13-18 ปี เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร้างกาย เกิดความรู้สึกทางเพศ รู้ว่าตนเองชอบเพศใด และโดยปกติแล้ว
ความพอใจทางเพศนี้เมื่อเกิดแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ารักเพศเดียวกันก็เรียกว่ารักร่วมเพศ
GID คืออะไร
GID คือ ภาวะที่มีความไม่พอใจในเพศตัวเอง คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นเพศตรงข้าม รังเกียจอวัยวะเพศของตนเอง ทำให้มีความต้องการจะเป็นเพศตรงข้ามเมื่อโตขึ้น ซึ่งก็คือ ผู้ชายอยากจะเป็นผู้หญิง และผู้หญิงอยากจะเป็นผู้ชายนั่นเอง
พบได้บ่อยแค่ไหน?
GID จะพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 3-5 เท่า โดยเพศชายพบได้ 1 ใน 30,000 คน ส่วนเพศหญิงพบได้ 1 ใน 100,000 คน
สาเหตุการเกิด GID
ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ยังไม่มีการศึกษาที่มากพอเกี่ยวกับเรื่องผลของพันธุกรรม กับ GID มีเพียงบางการศึกษาที่พบว่าพันธุกรรมอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิด GID
ปัจจัยทางด้านกายภาพ เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแอนโดรเจน ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ นั้นคือโดยปกติแล้ว ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในช่วงที่เป็นตัวอ่อนเนื้อเยื่อจะถูกกำหนดมาให้เป็นเพศหญิงไว้ก่อน แต่หากมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (ซึ่งมีการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนนั้นถูกกำหนดโดยโครโมโซมY) เกิดขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนจะทำให้เกิดการพัฒนาและการเจริญของอัณฑะ ทำให้บริเวณอวัยวะเพศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอวัยวะเพศชาย แต่หากไม่มีฮอร์โมนแอนโดรเจนจะทำให้เกิดอวัยวะเพศหญิง พูดง่ายๆ ก็คือฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นฮอร์โมนความเป็นชายนั่นเอง
นอกจากนี้ฮอร์โมนแอนโดรเจนยังเกี่ยวกับความชอบทางเพศด้วย โดยการมีฮอร์โมนแอนโดรเจนมากทำให้เกิดความชอบต่อเพศหญิง ส่วนการมีฮอร์โมนแอนโดรเจนน้อยทำให้มีความชอบในเพศชาย จากการศึกษาพบว่าการที่มารดามีฮอร์โมนแอนโดรเจนต่ำในช่วงตั้งครรภ์ทำให้เด็กผู้ชายเติบโตมีลักษณะและพฤติกรรมที่ค่อนไปทางเพศหญิง ในขณะเดียวกันเด็กผู้หญิงที่มีฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงก็จะมีลักษณะและท่าทางออกไปทางผู้ชาย
ปัจจุบันทางด้านการเลี้ยงดู พบว่าในเรื่องความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยหากพ่อหรือแม่มีปัญหา มีการใช้ความรุนแรง หรือไม่ใกล้ชิด จะทำให้ลูกเกิดปัญหาทางเพศได้ เช่น เด็กผู้ชายที่พ่อไม่อยู่หรือพ่อเป็นตัวอย่างไม่ดี เช่น ก้าวร้าว เมาเหล้า ตบตี ก็ทำให้เด็กไม่มีแบบอย่างที่ดีในการเลียนแบบ หรืออาจนำไปสู่การโกรธ เกลียด ไม่พอใจในเพศชาย รวมถึงทำให้เด็กสนิทกับแม่ ซึ่งเป็นเพศหญิงมากเกินไป จนเกิดการเลียนแบบแม่แทน
GID กับ homosexual ต่างกันอย่างไร
สองภาวะนี้มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดใน homosexual นั้น ถึงแม้จะชอบเพศเดียวกัน แต่คนๆ นั้นจะยังมีบทบาทหรือการใช้ชีวิตในแบบเพศของตัวเอง ตัวอย่างเช่น เกย์ แม้จะชอบผู้ชาย แต่ก็จะยังแต่งตัวแบบผู้ชายใช้ชีวิตหรือทำงานแบบผู้ชายได้ และไม่ได้ต้องการเปลี่ยนเพศ เพียงแต่ชอบผู้ชายเท่านั้น ซึ่งจะไม่เหมือนกับ GID ในเพศชาย ที่จะต้องการมีบทบาท หรือใช้ชีวิตแบบเพศหญิง แต่งตัวเป็นผู้หญิง ไว้ผมแต่งหน้า ทำงานแบบที่ผู้หญิงชอบทำ และต้องการที่จะแปลงเพศ
อีกปัจจัยหนึ่งจากการเลี้ยงดูก็คือ การส่งเสริมหรือยอมรับในพฤติกรรมทางเพศของพ่อแม่ เช่น การที่พ่อแม่ไม่ทำให้เด็กพอใจหรือยอมรับในเพศตัวเอง แต่กลับมีท่าทีหรือทัศนคติบางอย่างที่ทำให้เด็กคิดว่า การทำตัวเป็นเพศตรงข้ามจะทำให้ตัวเองมีคุณค่ามากกว่า รวมไปถึงการที่เด็กแสดงออกผิดเพศแล้วพ่อแม่ไม่แก้ไข เช่น พ่อที่อยากได้ลูกชายมาก เมื่อได้ลูกสาวก็อาจจะชอบที่ลูกเล่นอะไรแบบเด็กผู้ชาย และไม่พยายามห้าม เป็นต้น
ลักษณะอาการเป็นอย่างไร
แม้ว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่อาจจะสังเกตเห็นความผิดปกติของเด็กที่เป็น GID ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 3-4 ขวบ แต่มักจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเข้าวัยเรียนไปแล้ว
โดยอาการหลักๆ จะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ
-มีความไม่พอใจในเพศตัวเองอย่างมาก -เอาแบบเพศตรงข้ามอย่างชัดเจนและเป็นตลอดเวลา -มีความต้องการจะเป็นเพศอื่น
โดยในเด็กผู้หญิง อาจจะเห็นว่า เด็กชอบที่จะเล่นอะไรแบบผู้ชายมากกว่า เช่น เล่นบอล เล่นต่อสู้ เล่นแรงๆ แทนที่จะเล่นตุ๊กตา เล่นเป็นครอบครัว หรือเล่นทำอาหาร
ในเด็กผู้ชายจะพบว่า เด็กจะสนใจกิจกรรมแบบผู้หญิงมากกว่า เช่น มีตุ๊กตาเป็นของเล่นชิ้นโปรด มากกว่าสัตว์ประหลาด หรือหุ่นยนต์ต่างๆ เด็กชอบเล่นเป็นครอบครัว (โดยที่มักจะชอบเล่นเป็นแม่) ชอบเล่นกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย หรือบางครั้งอาจจะแต่งตัวหรือใช้เครื่องประดับของผู้หญิง (มักหยิบเอาของแม่หรือพี่สาวมาใส่)
เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นมักจะบอกว่าตัวเองอยากเป็นเพศตรงข้าม เด็กผู้ชายบางคนอาจจะบอกว่า เมื่อโตขึ้นอัณฑะของเขาจะหายไป หรืออาจจะบอกว่า เขาจะมีความสุขกว่านี้หากไม่มีอัณฑะ ส่วนใหญ่เด็กผู้หญิงอาจจะบอกว่าไม่อยากจะมีเต้านม
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น คนกลุ่มนี้ต้องการมีชีวิตและถูกปฏิบัติแบบเพศตรงข้าม ต้องการลักษณะทางเพศของเพศตรงข้าม ชอบและอยากที่จะแต่งตัวเป็นเพศตรงข้าม ทำกิจกรรมแบบเพศตรงข้าม รวมถึงมีความคิดว่าตัวเองเกิดมาผิดเพศ (เช่น ผู้ชายเป็น GID มักจะบอกว่า รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่เกิดมาในร่างผู้ชาย) มักเริ่มอยากที่จะใช้ยาฮอร์โมน หรือผ่าตัด เพื่อเปลี่ยนรูปลักษณะภายนอกให้เป็นเพศตรงข้าม
โดยในผู้ชายมักจะกินฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยอาจจะใช้วิธีกินยาคุมเพื่อให้มีหน้าอก และมีรูปร่างแบบผู้หญิง รวมถึงอาจจะไปจี้หรือเลเซอร์เอาขน หนวด เคราออก ส่วนผู้หญิงมักเริ่มจากพันผ้าที่หน้าอก (เพื่อให้เหมือนไม่มี) หรืออาจจะสนใจการผ่าตัดเพื่อตัดเต้านม กินฮอร์โมนเพศชายเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ เพื่อให้เสียงเปลี่ยนเป็นแบบผู้ชาย
การดำเนินของโรคและอนาคต
แม้จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการให้เห็นตั้งแต่ตอน 3-4 ขวบ และจะแสดงอาการให้เห็นมากขึ้นตามอายุ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเด็กทุกคนที่มีอาการจะโตขึ้นมาเป็น GID ทุกคน โดยบางส่วนจะโตขึ้นมาเป็น homosexual บางส่วนก็กลับเป็นปกติ และบางส่วนเป็น GID ต่อไป
การรักษา
ในเด็กการรักษา GID นั้น หากรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะได้ผลดีกว่า และมีโอกาสหายมากกว่าปล่อยให้มีอาการจนเข้าวัยรุ่น ซึ่งการรักษามักไม่ค่อยได้ผล อย่างไรก็ดี การรักษาตั้งแต่เด็กก็อาจจะได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังว่าจะเปลี่ยนได้ในทุกราย
สำหรับวิธีการรักษาใช้การปรับเรื่องทักษะทางสังคมให้เหมาะสมกับเพศของเด็ก โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ครอบครัว พยายามให้เด็กทำอะไรที่เหมาะสมกับเพศ ให้อยู่ร่วมกับเพื่อนที่เป็นเพศเดียวกัน ให้พ่อหรือแม่ที่เป็นเพศเดียวกันเข้ามามีส่วนดูแลลูกมากขึ้น (เช่น ลูกชาย ก็ให้ใกล้ชิดกับพ่อมากขึ้น) เป็นต้น รวมถึงการลดความตึงเครียดในครอบครัว เช่น ไม่ตำหนิหรือด่าว่าเด็กอย่างรุนแรง ส่งเสริมให้เด็กเข้ากลุ่มกับเพศเดียวกันที่โรงเรียน ส่งเสริมการแสดงออกให้เหมาะสมกับเพศ เช่น เด็กผู้ชายก็คงเหมาะกับการเล่นฟุตบอลมากกว่าแสดงละครเป็นผู้หญิง
ในวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ มีการพูดกันเล่นๆ ว่า “GID ในเด็กนั้นให้รักษาเด็ก แต่ในวัยรุ่นนั้นให้รักษาพ่อแม่” หมายถึง เมื่อเลยเข้ามาถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ มักแก้ไขอะไรที่ตัวเด็กไม่ได้แล้ว และไม่มียาตัวใดหรือการรักษาใดในโลกนี้ที่ทำให้ผู้ป่วยกลับมาชอบเพศตัวเองได้ ดังนั้นการรักษา คือ การให้พ่อแม่ทำใจ เข้าใจ และยอมรับในตัวลูกได้ โดยไม่ดุด่า ไม่คาดหวัง ไม่เสียใจกับตัวเด็ก ส่วนการรักษาตัวลูกนั้นมักจะเป็นในแง่ของการช่วยให้ผู้ป่วยเป็นเพศที่เขาอยากจะเป็น และมีชีวิตอยู่อย่างสุขภาพจิตดี
-ให้ผู้ป่วยได้ทดลองใช้ชีวิตในแบบเพศตรงข้ามสักระยะหนึ่ง
-การรักษาด้วยฮอร์โมน (hormone treatment) โดยในผู้ชายจะให้กินฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อให้มีเต้านม มีลักษณะภายนอกไปทางผู้หญิง ซึ่งจากประสบการณ์พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ GID มักจะใช้วิธีไปซื้อยาคุมกินเอง และกินเป็นจำนวนมาก (บางคนกินเดือนละ4-8แผง) ซึ่งค่อนข้างจะเสี่ยงต่ออันตรายจากผลข้างเคียงของยาโดยเฉพาะเมื่อใช้ไปนานๆ ดังนั้นควรจะไปตรวจดูผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนกับแพทย์เป็นระยะๆ เพราะอาจมีผลต่อการทำงานของตับ ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด หรือปัญหาเกี่ยวกับเรื่องหลอดเลือดอุดตันได้ ส่วนในผู้หญิงจะใช้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ด้วยการฉีดทุก 3-4 สัปดาห์ เพื่อช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและทำให้เสียงเหมือนผู้ชาย รวมถึงมีผลทำให้ไม่มีประจำเดือน ซึ่งควรตรวจกับแพทย์เป็นระยะเพื่อระวังผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเช่นกัน
-การผ่าตัดแปลงเพศ มักเป็นการรักษาขั้นสุดท้ายในปัจจุบันกำหนดไว้ว่า การผ่าตัดแปลงเพศจะทำได้เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์เท่านั้น หากอยุ 18-20 ปี ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม โดยผู้ป่วยควรที่จะได้ทดลองใช้ชีวิตในแบบเพศตรงข้ามมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
|
|
ขอบคุณ : HealthToday และ กรมสุขภาพจิต
|
|
รายการที่เกี่ยวข้อง: สุขภาพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น