เจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าใต้ดินกำลังติดตั้งแผงกั้นน้ำบริเวณสถานีพระราม 9
สั่ง อพยพ 10 จังหวะ ก่อน กทม. ผุด 80 ศูนย์รองรับเหตุ (ไทยโพสต์)
"ยิ่งลักษณ์" เครียดแก้ปัญหาน้ำท่วม เตรียมอพยพชาวบ้าน 10 จังหวัดวิกฤติออกนอกพื้นที่หลังหมดหนทางป้องกัน จับเข่าคุย ผบ.เหล่าทัพขอเปิดค่ายทหารรองรับ "ปลอดประสพ" รับประเมินสถานการณ์ผิดพลาดจนอยุธยาจมบาดาล "กทม." ตั้ง 80 ศูนย์ดูแลคนกรุงหนีน้ำ "ศอส." เตือน 5 จังหวัดเสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก
สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดยังคงอยู่ในขั้นวิกฤติ และมีแนวโน้มที่จะขยายความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลอดทั้งวันอาทิตย์ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ ประชุม ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อติดตามสถานการณ์และสั่งการหลายรอบ รวมทั้งยกเลิกภารกิจส่วนตัวและการรับประทานอาหารกับครอบครัว
โดยในช่วงเช้าวานนี้ (9 ตุลาคม) น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เราต้องเตรียมตัวรับกับพายุลูกใหม่ ซึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากก็ไล่จาก จ.นครสวรรค์, จ.ชัยนาท, จ.สิงห์บุรี, จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.นนทบุรี และจ.ปทุมธานี ซึ่งอยากให้มีการจัดวางลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน โดยเห็นว่าพื้นที่ในตัวเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจจะต้องปกป้อง โดยให้มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราอย่างเคร่งครัด แต่อันไหนที่ปกป้องไม่ได้ ก็ให้อพยพอย่างเดียว มิฉะนั้นจะเสียกำลังไปปกป้องโดยเปล่าประโยชน์" นายกฯ ระบุ
เล็งอพยพ ปปช. 10 จังหวัดวิกฤติ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงว่า ได้สั่งตั้งคณะกรรมการทำงานในจังหวัดที่ต้องศึกษาและป้องกันผล กระทบทั้งหมด ใน 10 จังหวัด คือ นครสวรรค์, อุทัยธานี, พระนครศรีอยุธยา, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, ลพบุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี และฉะเชิงเทรา รวมทั้ง กทม. ซึ่งการทำงานทั้งหมดนี้จะเน้นความสำคัญในการทำงานที่ร่วมกับทหาร กรมชลประทาน และท้องถิ่น ในการทำงานเพื่อปกป้องในส่วนพื้นที่เขตเศรษฐกิจหรือพื้นที่ตัวเมือง รวมทั้ง ยังระดมสรรพกำลังทั้งหมดเพื่อดันมวลน้ำให้ไหลออกลงสู่ทะเลเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้จะให้ความมั่นใจในการคลี่คลายสถานการณ์กับประชาชน อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ความทุเลานั้นเชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัญหาบางอย่างเราควบคุมไม่ได้ วันนี้ได้ประมาณการในส่วนของน้ำทะเลที่ยังไม่ขึ้นสูง จึงเร่งระบายน้ำและเร่งอพยพประชาชน แต่ไม่ทราบว่าพายุ 2 ลูกใหม่ที่จะมานั้นเป็นแบบใด รวมทั้งยังไม่ทราบว่าปริมาณน้ำฝนจะเป็นเช่นใด ขณะเดียวกันเชื่อว่าความปลอดภัยของประชาชนนั้นเราจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเชื่อว่าความเสียหายด้านนี้จะลดลง
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้เรียก พล.ต.อ.ประชา, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ และตัวแทน กทม.มาประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงพร้อม ผบ.เหล่าทัพ ว่าที่ต้องเรียก รมว.กลาโหมและ ผบ.เหล่าทัพมาหารือ เพื่อให้ทำงานสอดคล้องในแนวทางเดียวกัน และรวมทุกสรรพกำลังของทุกเหล่าทัพมาแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งการแก้ปัญหานั้น จะให้ความสำคัญเร่งด่วน คือจะทำอย่างไรในการย้ายประชาชนที่ประสบปัญหาติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมให้ออก มาได้อย่างปลอดภัย และดูแลอาหารการกินทั้งหมด
"เราต้องระดมสรรพกำลังช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ใดที่ยังไม่มีผลกระทบหรือกำลังจะมีผลกระทบที่สามารถ ป้องกันได้ เราจะรวมทุกสรรพกำลังและแบ่งงานของแต่ละกองทัพให้รับจุดสำคัญที่เป็นจุด ยุทธศาสตร์ใหญ่ ส่วนที่สองคือ หากบริเวณใดที่ไม่สามารถป้องกันได้ จะเร่งอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัย เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ค่ายอพยพเต็ม ก็ลำเลียงไปใช้ค่ายทหารที่ จ.สระบุรี เพิ่มเติม" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ กทม.สิ่งที่เร่งดำเนินการ คือ ช่วยกันมองและประเมินปัญหาร่วมกับ กทม.ที่จะป้องกันช่วงรอยต่อของจังหวัดต่าง ๆ กับ กทม.ให้ต่อเชื่อมแบบสมบูรณ์เร็วที่สุด เบื้องต้นนี้ในส่วน กทม.นั้น ต้องใช้กำลังทุกหน่วยงานและทุกกองทัพมาช่วยป้องกันรอยต่อที่มีอยู่ และต้อง การกระสอบทราย 7 แสนกระสอบ จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังภาครัฐและเอกชนที่มีทรายมาให้ เพื่อนำมาทำคันกั้นน้ำเร่งด่วน
"ขอเรียนกับประชาชนใน กทม. อาจจะมีพื้นที่เสี่ยงภัยที่น้ำจะแผ่กระจายไปถึง เช่น พื้นที่ กทม.ตอนเหนือและตะวันออก คือพื้นที่เสี่ยงภัยที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ขอเรียนกับประชาชนว่า กรุณาอย่าตื่นตระหนก ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรขนย้ายข้าวของที่มีค่าขึ้นชั้นบน ดูแลชีวิตและ ทรัพย์สิน ไม่ควรอยู่ในความประมาท" นายกฯ กล่าว
สั่งเปิดค่ายทหารรองรับ
เมื่อถามถึงการอพยพประชาชนจังหวัดใดที่เป็นเป้าหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า 10 จังหวัดที่น้ำเข้าถึงแล้ว ส่วนบางจังหวัดจะมีพื้นที่เสี่ยงภัยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการ หากมีน้ำเข้าถึงก็พร้อมที่จะอพยพโดยทหารอากาศและทหารเรือ
ซักว่า พื้นที่รองรับประชาชนคือค่ายทหารใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ จะให้เข้าพักในค่ายทหาร แต่ขอประชาสัมพันธ์ว่า หากเอกชนมีสถานที่สูงและปลอดภัยที่จะใช้เป็นค่ายอพยพ ขอให้แจ้งมา เพราะวันนี้ จ.พระนครศรีอยุธยาเต็มแล้ว จึงจะขนย้ายผู้อพยพไปจังหวัดอื่นที่น้ำไม่ท่วม และขอความกรุณาอีกว่าผู้ที่ประสงค์จะบริจาคสิ่งของไปยังประชาชนที่ประสบภัย หากเป็นไปได้ขอให้ติดต่อมายังศูนย์กลางก่อน เพราะบางพื้นที่ประกาศไปแล้วประชาชนไปรอที่ถนน และไม่ทราบว่าจะส่งให้จุดใดจนเจ้าหน้าที่ทำงานลำบากและมีปัญหาจราจร จึงขอให้แจ้งมาว่าจะให้ไปช่วยเหลือในจุดใด เราจะไปช่วยเหลือในจุดนั้นให้ แต่เบื้องต้นนั้นสามารถไปรวมที่ศูนย์อพยพได้เลย และจะมีเจ้าหน้าที่แจ้งว่าควรไปส่งจุดใด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงการซ่อมประตูน้ำบางโฉมศรีว่า ตอนนี้หารือกับกรมชลประทานว่าจะทำอย่างไร เคยคิดกันว่า หากสมมติว่าไปทำในจุดที่มันผ่าน แต่เราจะไปทำในประตูที่ดันให้น้ำมันเร็ว จากนั้นจะไปกดดันประตูน้ำในมันปล่อยน้ำให้เร็วขึ้น ต้องหาทางว่าควรทำเช่นใด เช่น นำตะกร้าหินไปใส่ไว้ในน้ำเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง แต่จะมองว่าจะให้เสร็จสิ้นในวันนี้เป็นไปไม่ได้ ต้องยืดระยะเวลาไปอีก
"ผมกับกรมชลประทานและกองบัญชาการทหารพัฒนา พยายามเร่งให้เร็วสุด เดิมนั้นคำนวณไว้ว่าจะเสร็จใน 7 วัน แต่อย่างน้อยจะเร่งให้เสร็จใน 3 ถึง 4 วัน " ผบ.ทบ.กล่าว
เวลา 20.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมและเตือนภัยประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา
ปลอดประสพ รับประเมินพลาดจนอยุธยาจมบาดาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่นายกฯ จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายปลอดประสพออกมายอมรับว่า ได้คาดสถานการณ์น้ำผิดพลาดไป ในส่วนของจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และปทุมธานี ที่มีน้ำไหลท่วมสูง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาช้าไปกว่าจากการคาดการณ์ไว้ถึง 2-3 วัน แต่เมื่อมาถึงกลับมีจำนวนมากกว่าที่ได้คาดไว้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการปรับวิธีการรับมือน้ำใหม่
"ศปภ.ประเมินจำนวนมวลน้ำหลากใน จ.พระนครศรีอยุธยาผิดพลาด จึงเกิดเหตุน้ำท่วมสูงขึ้น ซึ่งวันนี้จะมีการประชุมเพื่อประเมินและแก้ไขอีกครั้ง" นายปลอดประสพ กล่าว
ที่ พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ในวันที่ 11 ต.ค.ในการประชุมพรรค และวันที่ 12 ต.ค.ในการประชุมสภา จะเสนอการหักเงินเดือน ส.ส.เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน
กทม.เตรียม 80 ศูนย์รอ
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธาน ส.ส.ภาค กทม.กล่าวว่า พื้นที่หลายจุดของ กทม.น้ำเริ่มขึ้นสูงแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ตะวันออกที่เป็นที่รองรับน้ำ เนื่องจากมีประตูระบายน้ำหลายแห่ง ทั้งหมดต้องยอมรับว่าหลังจากมีสนาม บินสุวรรณภูมิ การเคลื่อนของน้ำถูกขวาง คลองที่เคยขวางถูกตัดขาดหมด ประกอบกับน้ำทางเหนือ และ จ.พระนครศรีอยุธยา มาอย่างเต็มที่ และประตูระบายน้ำหลายแห่งในฝั่งตะวันออกของ กทม.มีความต่างของปริมาณน้ำระหว่างด้านนอกกับด้านในสูงมาก เท่ากับว่าบริเวณด้านนอกนั้นน้ำมีความสูงมาก
"เพื่อป้องกันไม่ให้เขตเศรษฐกิจใน กทม.ชั้นในเสียหาย ได้รับผลกระทบหนัก จึงเสนอไปยัง กทม.ให้ใช้พื้นที่ทุ่งรังสิต ซึ่งเป็นทุ่งกว้างใหญ่ มีบ้านเรือนน้อย เป็นพื้นที่ชะลอน้ำก่อนจะมาถึงเขตชั้นใน กทม.ให้คน กทม.โดยเฉพาะคนในหมู่บ้านมีเวลาเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม" ประธาน ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าว
นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัด กทม. ประชุมผู้อำนวยการเขตฝั่งตะวันออกทั้ง 9 เขต เพื่อป้องกันสถานการณ์น้ำท่วม โดยนายพีระพงษ์กล่าวว่า สั่งให้ทุกในพื้นที่เสี่ยงเตรียมแผนอพยพประชาชน โดยให้ทั้ง 9 เขตเตรียมศูนย์พักพิง ซึ่งได้เตรียมไว้ทั้งหมด 80 ศูนย์ ที่จะสามารถรองรับประชาชนได้ 8,000-10,000 คน
"กทม.ได้เตรียมแผนไว้รับมือน้ำท่วมไว้ทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้ปริมาณน้ำมาก ทำให้ 4 เขต จาก 9 เขต อาจจะได้รับผลกระทบมาก คือ เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง และเขตมีนบุรี อย่างไรก็ตาม ต้องรอการประเมินต่อเนื่องจนถึงในช่วงปลายเดือนนี้ ที่จะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนมาก ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนสูงด้วย" รองปลัด กทม.กล่าว
ด้านนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 30 จังหวัด รวมทั้งสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ประชาชนที่อาศัยบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี, ราชบุรี, นครปฐม, สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ รวมทั้งปริมณฑล ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และเพชรบุรี ระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักในระยะ 3-4 วันนี้ และพื้นที่ 5 จังหวัด คือ กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, จันทบุรี และตราด ต้องระวังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-2 วันนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
รายการที่เกี่ยวข้อง: ข่าวเด่น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น