Siri คืออะไร (สิริ) มองสิริแล้วย้อนมองตัวเอง ความสามารถพิเศษของระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ที่จะมาพร้อมไอโฟนรุ่นล่าสุดที่แอปเปิลใช้เป็นจุดขาย ที่ฮือฮากันพอสมควรก็คือ การฝังเอเจนต์โต้ตอบอัจฉริยะที่ชื่อ สิริ (Siri) ลงไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการนี้ด้วย สิริเป็นใคร ทำไมถึงน่าสนใจ? แรกเริ่มเดิมทีสิริเป็นผลิตภัณฑ์ของเครือบริษัทสิริ (Siri Inc.) ที่ไม่ใช่ของแอปเปิล แต่ในท้ายที่สุดแอปเปิลได้ซื้อสิริ แล้วผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไอโอเอสรุ่นใหม่ที่สามารถ “ฟัง” คำถามจากมนุษย์ได้เข้าใจ และสามารถตอบโต้ออกมาเป็นการกระทำในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สามารถค้นหาข้อมูลสภาพอากาศ ประมวลผลเพื่อหาคำตอบ แล้วตอบออกมาเป็นเสียงพูด เพื่อสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างน่าประทับใจ ไม่ใช่แต่เพียงสิริเท่านั้นที่เปิดตัวได้อย่างน่าทึ่ง เพราะก่อนหน้านี้หลายเดือน ทางฝั่งกูเกิลได้ฝังความสามารถทางด้านการโต้ตอบด้วยเสียงแบบเดียวกับสิริลงไปในแอนดรอยด์โอเอสของตัวเอง กูเกิลตั้งชื่อความสามารถพิเศษนี้ว่า Voice Actions ซึ่งผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดและใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นวอยซ์เสิร์ช (Voice Search) คุณสมบัติทั้งสองจากไอโฟนและแอนดรอยด์จัดอยู่ในกลุ่มเอเจนต์อัจฉริยะ ที่หมายถึง การสร้างส่วนจำเพาะของระบบ (หรือเรียกว่า มอดูล-Module) ให้ทำงานบางอย่างได้อย่างอัตโนมัติภายในสิ่งแวดล้อมที่กำหนด แนวคิดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น สร้างเอเจนต์ในรูปแบบระบบฝังตัวเพื่อคอยตรวจวัดอุณหภูมิทั้งในรถยนต์เพื่อใช้ในการควบคุมการทำงานของพัดลมระบายความร้อน หรือใช้เป็นตัวคอยปรับอุณหภูมิภายในห้องสำหรับกรณีเครื่องปรับอากาศ สร้างเป็นเอเจนต์โต้ตอบระหว่างผู้ขับกับอุปกรณ์ภายในรถยนต์ที่มีอยู่ในรถหลาย ๆ รุ่น หรือแม้กระทั่งสร้างเอเจนต์คอยตรวจการพิมพ์เพื่อแก้ไขให้เป็นภาษาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลงานจากโครงงานของนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (http://www.rightlang.com) เป็นต้น ย้อนกลับมาที่เอเจนต์เท่ ๆ อย่างสิริและวอยซ์เสิร์ชกันครับ แน่นอนว่า ในตอนเปิดตัวคุณสมบัติทั้งสองอันนี้ยังไม่สนับสนุนภาษาไทย และคงอีกนานกว่ามันจะสนับสนุนภาษาไทยได้เหมือนที่ทำได้ในภาษาอังกฤษ ผู้ใช้หลายท่านอาจจะขมวดคิ้วตั้งคำถามว่า แล้วต้องรออีกนานขนาดไหน ถึงจะสามารถใช้ภาษาไทยในสิริกับวอยซ์เสิร์ชได้ ซึ่งก่อนที่จะตอบคำถามว่า “อีกนานขนาดไหน” ได้ เราลองมาพิจารณาดูก่อนว่า มัน “ยาก” มากไหมที่จะสร้างให้สิริกับวอยซ์เสิร์ชรองรับภาษาไทยได้ สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเพื่อให้สามารถใช้งานภาษาไทยได้นั้นมีหลายอย่างด้วยกัน เช่น การ “ฟัง” ภาษาไทย (หรือที่เรียกว่า การรู้จำเสียงภาษาไทย) การแปลภาษาไทยเป็นอังกฤษและอังกฤษกลับเป็นไทย (ในกรณีที่ใช้กลไกภายในทั้งหมดของสิริและวอยซ์เสิร์ช) การสรุปความภาษาไทย และการสังเคราะห์เสียงหรือการแปลงข้อความกลับเป็นเสียง หลายคนมองสิริอาจจะรู้สึกทึ่ง ตื่นเต้น อยากใช้หรืออื่น ๆ อีกมากมาย แต่ลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเรา เราจะพบความจริงที่น่ากลัวว่า คือ ในบรรดาสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมตามที่อธิบายในย่อหน้าด้านบนนี้ เราต้องการแรงงานคนในระดับปริญญาตรี โท และเอก รวม ๆ แล้วไม่ต่ำกว่าร้อยคน (อาจถึงหลายร้อยคน) ซึ่งต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูงถึงสูงมากเสียด้วย และสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ ความจริงที่ว่า ในปัจจุบันเราสามารถผลิตคนในระดับนี้ได้เพียงปีละไม่ถึงสิบคน จากทรัพยากรที่เรามีอย่างจำกัด ทำให้เรามีสามทางเดินให้เลือกเดิน หนึ่ง ยอมจำนนไม่ใช้ภาษาแม่ของเราและหันไปใช้ภาษาอังกฤษ สอง ยอมให้ต่างชาติใช้แรงงานคนและเงินที่มีมากกว่าเราสร้างสรรค์งานเกี่ยวกับภาษาของเราแล้วนำมาขายเรา หรือสาม ตระหนักถึงความอ่อนแอของกำลังคนในด้านไอทีและทำให้มันเข้มแข็งมากขึ้น “คุณเลือกข้อไหนครับ?”
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าไม่นับเรื่องน้ำท่วมแล้ว ในแวดวงไอทีมีข่าวใหญ่ ๆ เกิดขึ้นหลายข่าวด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว iPhone 4s หรือข่าวการเสียชีวิตของสตีฟ จอบส์ อดีตซีอีโอของแอปเปิล
Siri คืออะไร (สิริ)
ป้ายกำกับ:
เทคโนโลยี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น