6 โรคอินเทรนด์ของหนู ๆ



แม่และเด็ก

6 โรคอินเทรนด์ของหนู ๆ
(M&C แม่และเด็ก)

ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย รวมทั้งสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเมืองที่อยู่กันอย่างหนาแน่น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้เด็กมีอัตราการเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่าง ๆ อยู่พอสมควรค่ะ โดยเฉพาะโรคดังกล่าวต่อไปนี้ ซึ่งถือว่า เป็นโรคฮิตที่เล่นงานพ่อแม่ให้ต้องเหนื่อยใจอยู่ไม่น้อยตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

โรคอ้วน

อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นโรคขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่ง สำหรับโรคของเด็กในเมือง เนื่องจากสภาพแวดล้อมในเมือง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กมีตัวเลือกในการบริโภคเยอะ เพราะแค่เดินเพียงไม่กี่ก้าว เราก็เจอร้านสะดวกซื้อที่มีของกินเสี่ยงต่อโรคอ้วนอยู่มากมาย ทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมหวาน เครื่องดื่มน้ำตาลสูง จนพ่อแม่บางครั้งก็ไม่รู้จะห้ามยังไง เพราะตัวเองก็กินกับลูกด้วย อิ อิ ถ้าไม่อยากให้ลูกเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน ซึ่งเป็นตัวการทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานและโรคกระดูกเมื่อโตขึ้น ก็อย่าตามใจปากมากค่ะ ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และคุณลูกด้วย

แพ้อากาศ

คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่า โรคแพ้อากาศ คือเด็กแพ้อากาศที่หายใจเข้าไปทุกวัน ขอบอกว่าผิดค่ะ ความจริงสิ่งที่ทำให้แพ้ก็คือสารที่แฝงอยู่ในอากาศต่างหาก อย่างพวกไรฝุ่น ขี้แมลงสาบ เกสรดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันเราพบเด็กที่เป็นภูมิแพ้อากาศเยอะมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะเด็กในเมืองด้วยแล้ว พบได้ร้อยละ 40 เลยทีเดียว อาการแพ้นอกจากทำให้เกิดน้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจไม่ค่อยออก จาม หรือมีอาการคันตาร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังกินเวลาเป็นปี นอกจากทำให้เด็กหงุดหงิดได้ง่ายเพราะนอนหลับไม่สนิทแล้ว และยังทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียนอีกด้วย

สมาธิสั้น

จัดเป็นอีกหนึ่งโรคฮิตที่พบในเด็กไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เราจะพบเด็กในวัยเรียนสมาธิสั้น ร้อยละ 5 โดยเฉลี่ยห้องเรียนหนึ่งจะพบเด็กสมาธิสั้นประมาณ 2-3 คน ซึ่งอาการเด็กสมาธิสั้น ก็ประมาณดื้อ อยู่ไม่สุข พูดมากและไม่หยุด รอคอยไม่เป็น ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาคนอื่นกำลังพูดอยู่ การเลี้ยงดูมีส่วนสำคัญมากค่ะ คุณแม่ต้องพยายามจัดสิ่งแวดล้อมของบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ควรปล่อยเด็กเล่นเกมหรือปล่อยให้ทีวีเลี้ยงลูกอยู่ประจำ และสุดท้ายการส่งเสริมกิจกรรมให้เด็กใช้สมาธิมาก ๆ ก็จำเป็นเช่นเดียวกัน

โรคติดเชื้อ

โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคคออักเสบ ไข้หวัด หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ฯลฯ เด็กในวัยเริ่มเข้าเรียน ต่างก็เป็นกันมากค่ะ ยิ่งเด็กที่มีภูมิต้านทานร่างกายไม่ค่อยดีอยู่แล้ว งานนี้เรียกว่า ต้องเข้าออกโรงพยาบาลกันเดือนชนเดือนเลยทีเดียว ซึ่งการรักษานอกจากหม่ำยาตามที่คุณหมอสั่งแล้ว การป้องกันโรคเหล่านี้ที่ดีที่สุดก็คือ การหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรจะต้องสอนลูกให้รู้จักล้างมือสะอาดบ่อย ๆ รวมทั้งการไม่ใช้ภาชนะต่าง ๆ ที่โรงเรียนร่วมกับผู้อื่น และเวลาไอหรือจามก็รู้จักใช้ต้นแขนปิดปากแทนการใช้มืออย่างปกติ ก็จะเซฟการติดเชื้อได้ดีระดับหนึ่งเลยทีเดียว

โรคตาแดง

โรคตาแดงเป็นได้ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดหนักเป็นช่วง ๆ โดยเฉพาะหน้าฝน ซึ่งสามารถเป็นกันได้ทุกเพศทุกวัน แต่จะพบมากในเด็กวัยกำลังเข้าเรียนใหม่ ๆ เป็นกันเยอะค่ะ เพราะโรคนี้ที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก และเนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันน้อย ประกอบการดูแลตนเองหรือการป้องกันการติดเชื้อไม่ดีพอจึงเป็นได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

ส่วนสาเหตุ โรคตาแดงเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นกลุ่มอาดิโนไวรัส ส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง แต่จะไม่ติดต่อทางการสบสายตา ทางอากาศ หรือการรับประทานอาหารร่วมกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยอาการเกิดได้ภายใน 1-2 วัน ระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วันค่ะ

ไวรัสโรต้า

แม้จะมีวัคซีนออกมานานแล้ว แต่ก็ป้องกันได้ไม่เต็มร้อยหรอกค่ะ เพราะอย่างที่ว่า เด็กเล็กยังไม่รู้จักการป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอเหมือนผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าโรต้ามักอยากตีซี้ด้วยจะเป็นเด็กอายุ 6 เดือน ไล่ไปจนถึง 2 ขวบค่ะ คุณพ่อคุณแม่มีลูกอยู่ในช่วงอายุนี้ก็ระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องความสะอาดของน้ำ อาหาร และที่อยู่ รวมทั้งของเล่นที่เจ้าตัวเล็กต้องสัมผัสอยู่บ่อย ๆ ให้ดีสักหน่อยค่ะ หากพบว่าลูกมีอาการท้องเสียบ่อย ๆ จนผิดปกติ ก็ให้ดื่มน้ำอุ่นและเกลือแร่เป็นหลัก เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง แล้วค่อยพามาพบคุณหมอค่ะ

หนูแข็งแรง ไร้โรคภัย

อาหาร เด็กในวัยนี้ ควรให้รับประทานโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ในปริมาณที่เหมาะสม

ออกกำลังกาย เปลี่ยนกิจกรรมการเดินช้อปตามห้างสรรพสินค้า มาเป็นการพาลูกออกกำลังกายตามสวนสาธารณะบ่อย ๆ ดีกว่าค่ะ

ที่อยู่อาศัย ควรเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด โล่งโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก

อารมณ์ บรรยากาศภายในบ้านควรผ่อนคลาย เป็นในลักษณะ "ครอบครัวอารมณ์ดี" ด้วยนะคะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 34 ฉบับที่ 475 กันยายน 2554


0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม