อันซีน“วัดเทพธิดาราม”…งดงาม“หอไตร” มรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า


โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

วัดเทพธิดาราม
หลายคนคงรู้ข่าวว่า เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การยูเนสโกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ประกาศยกย่องรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2011 จำนวน 9 แห่ง ผลปรากฏว่า มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยได้รับรางวัล 3 รางวัล หนึ่งในนั้นได้แก่ “หอไตร” วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ดีเด่น

วันนี้ฉันจึงกลับมาเยือน “วัดเทพธิดารามวรวิหาร”อีกครั้ง เพื่อสัมผัสชื่นชมในมรดกวัฒนธรรมระดับโลกอันทรงคุณค่าแห่งใหม่ล่าสุดนี้

หอไตร ที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ดีเด่นจากยูเนสโก
สำหรับวัดเทพธิดาราม หากเข้าประตูแรกทางด้านซอยสำราญราษฎร์ ด้านซ้ายมือเราจะเจอประตูคณะ 5 และหากมองเข้าไปด้านซ้ายมือก็จะเจอกับ“หอไตร” ที่ดูสวยสดงดงาม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีที่มีลักษณะการตกแต่งอิทธิพลจีนตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ใต้ถุนสูง กว้าง 6.50 เมตร สูง 10 เมตร ปิดทอง ล่องชาด มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันปิดทองประดับกระจกสี มีงานศิลปะลายรดน้ำที่มีอยู่ทุกบานประตู และหน้าต่าง สร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาพระคัมภีร์ใบลาน ซึ่งจารึกพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ ภายในหอไตร มีตู้พระไตรปิฎกทรงโบราณ กว้าง 1.75 เมตร ยาว 1.70 เมตร สูง 2 เมตร ขาตู้เป็นลักษณะเท้าสิงห์

ทั้งนี้ทางกรมศิลปากรได้วางแนวทางการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกรมศิลปากร โดยเน้นการปฏิสังขรณ์ ดูแล ร่วมกับชุมชน สำหรับ “หอไตร” วัดเทพธิดาราม ได้รับความร่วมมือกับชาวบ้านในการดูแลหอไตร ในด้านอนุรักษ์เป็นฝีมือช่างแบบดั้งเดิม และมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมศึกษาทุกวัน

หอไตรมีสถาปัตยกรรมแบบไทยจีน
นอกจากหอไตรแล้ว ที่วัดเทพธิดารามแห่งนี้ยังมีโบราณสถานที่น่ายลอีกเพียบ แต่ก่อนจะไปลุยกันต่อฉันขอเล่าถึงความเป็นมาของวัดเทพธิดารามกันสักหน่อย โดยวัดแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2379 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ)

การก่อสร้างพระอารามนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างในตำบลสวนหลวงพระยาไกร และแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2382 รัชกาลที่ 3 ได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เอง พร้อมพระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม”

รอบพระวิหารมีพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
ส่วนลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้ เป็นศิลปะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน เนื่องจากสังคมในสมัยนั้นมีการติดต่อค้าขายกับจีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รับเอาศิลปวัฒนธรรมจีนเข้ามามีบทบาทในสถาปัตยกรรมไทย รูปแบบสถาปัตยกรรมจึงเป็นอาคารแบบไม่มีช่อฟ้า ใบระกา แบบวัดในช่วงสมัยอื่น

รวมถึงเครื่องประดับพระอารามที่เป็นตุ๊กตาจีนสลักหิน มีทั้งรูปคนและสัตว์ ตุ๊กตารูปคนบางตัวมีลักษณะท่าทางและการแต่งกายแบบจีน บางตัวแต่งกายแบบไทย แต่ที่น่าสนใจก็คือ ตุ๊กตาจีนที่วัดแห่งนี้ส่วนมากจะสลักเป็นผู้หญิงในลักษณะต่างๆ

หมู่ภิกษุณีประดิษฐานหน้าพระประธานในพระวิหาร
เมื่อรู้จักวัดเทพธิดาราม และชมความงามของหอไตร มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกันแล้ว ฉันขอพาไปชม “หมู่ภิกษุณี” แห่งเดียวในไทยกันที่พระวิหาร ซึ่งถือเป็นอันซีนอันน่าสนใจยิ่งแห่งวัดเทพธิดาราม

หมู่ภิกษุณี หรือนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนานี้ เป็นรูปหล่อลงรักปิดทอง ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนหน้าพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหาร จำนวน 52 องค์ นั่ง 49 องค์ ยืน 3 องค์ อยู่ในอิริยาบถต่างๆ หลากหลายท่า มีทั้งท่านั่งปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ฉันหมาก สูบยา ยืนไหว้ นั่งพนมมือ

หมู่ภิกษุณี 52 องค์ในอิริยาบทต่างๆ
โดยหมู่ภิกษุณีเหล่านี้ มีประวัติเล่าไว้ว่า ในสมัยพุทธกาล แรกเริ่มเดิมทีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีได้ ต่อมาพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ผู้เป็นพระน้านางและพระมาตุจฉา หรือพระมารดาเลี้ยงของพระองค์เอง ได้มีศรัทธาอยากออกบวชจึงทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้าถึงสามครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล

จนกระทั่งพระอานนท์ได้ทูลขอให้ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรับเอาครุธรรมแปดประการ (แปลว่าข้อปฏิบัติที่หนักและทำได้ยาก) ไปปฏิบัติ จึงได้กำเนิดภิกษุณีองค์แรก คือ พระมหาปชาบดีโคตรมีเถรี นั่นเอง สันนิษฐานว่า ภิกษุณีองค์ที่มีลักษณะท่านั่งคล้ายพระพุทธองค์ ปางมารวิชัย คือ พระมหาปชาบดีโคตรมีเถรี

หลวงพ่อขาว พระประธานในพระอุโบสถ
จากพระวิหาร ฉันขอไปไหว้พระประธานในพระอุโบสถกันบ้าง โดยภายในพระอุโบสถมี “หลวงพ่อขาว” ประดิษฐานบนบุษบก เป็นพระประธานปางมารวิชัย สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ หน้าตักกว้าง 15 นิ้ว สูง 21 นิ้ว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธเทววิลาส”

พระอุโบสถศิลปะแบบจีน
ส่วนรอบนอกพระอุโบสถ ทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐาน “องค์พระปรางค์” ที่ฐานพระปรางค์แต่ละองค์มีรูปท้าวจตุโลกบาล คือท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรุฬปักข์ ประจำรักษาในทิศทั้ง 4 อาคารอีกหลังที่สำคัญก็คือ “ศาลาการเปรียญ” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะใกล้เคียงกันกับพระอุโบสถและพระวิหาร แต่ไม่มีการทำระเบียงรอบ

ศาลาการเปรียญ
นอกจากนี้ วัดเทพธิดารามยังมีความสัมพันธ์กับกวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ พระศรีสุนทรโวหาร(ภู่) หรือรู้จักกันในนามว่า “สุนทรภู่” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้อุปสมบทและจำพรรษาที่พระอารามนี้ระหว่าง พ.ศ. 2382-2385 ซึ่งได้รับพระอุปถัมภ์จากพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตลอดมา

สุนทรภู่ได้สร้างงานประพันธ์ไว้เป็นจำนวนมาก ในบรรดางานเหล่านี้ เรื่องที่เกี่ยวกับวัดเทพธิดารามมากที่สุดคือ “รำพันพิลาป” ท่านได้พรรณนาให้เห็นลักษณะปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ และความงามของพระอารามในสมัยนั้นอย่างละเอียด รวมทั้งได้กล่าวถึง หอพระไตรปิฎก ไว้ด้วย

ตุ๊กตาสลักผู้หญิง
ใครที่อยากชมหอไตร มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หมู่ภิกษุณี และศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็มาชมกันได้ที่ “วัดเทพธิดาราม” แห่งนี้ ชาวต่างชาติยังเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมของไทย เราเป็นคนไทยก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานมรดกอันทรงคุณค่าให้อยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป

ส่วนของกุฏิสุนทรภู่
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดเทพธิดาราม ตั้งอยู่ที่ ริมถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2225-7425, 0-2222-3046-7



0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม