ปัญหาประการหนึ่งในทารกเพศชายขณะที่เติบโตขึ้นมา และเกิดอาการปัสสาวะลำบาก หรือการอักเสบติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ สาเหตุเป็นเพราะหนังหุ้มอวัยวะเพศไม่เปิด มีการสะสมของสารที่หลั่งออกมาอยู่ภายใต้หนังที่หุ้มปิด ทำให้เกิดการหมักหมม เกิดมีกลิ่นเหม็น ลักษณะเหมือนอุจจาระที่เปียกน้ำ ทำให้บางคนเรียกว่า 'ขี้เปียก'
ขี้เปียก (smegma) เป็นคราบขาวๆ คล้ายแป้งเปียก พบอยู่ที่บริเวณหัวของอวัยวะเพศที่มีหนังหุ้มคลุมไว้ เป็นส่วนผสมของเซลล์ที่ตายแล้วและมูกเมือกซึ่งมักจะติดอยู่บริเวณคอคอดใต้ ผิวหนังองคชาติ และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เมื่อผสมกับนํ้าเมือกจากต่อมต่างๆ และเหงื่อไคลที่อยู่บริเวณส่วนปลายของอวัยวะเพศชายแล้ว จึงทำให้ขี้ไคลบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเปียกชื้น ขี้เปียกมีกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้
เส้นสองสลึง (frenulum) เป็นเส้นเอ็นเล็ก ๆ ที่ยึดระหว่างส่วนปลายของอวัยวะเพศชาย กับหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ซึ่งเส้นนี้โครงสร้างทางกายวิภาคจะเหมือนกับเส้นที่อยู่ใต้ลิ้น บางคนเส้นสองสลึกอาจจะตึงมาก ทำให้เวลาที่มีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง หรือสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองมากไป อาจจะทำให้เส้นสองสลึงฉีกขาดจนเลือดออกได้
การที่สามารถรูดหนังลงมาได้ก็เนื่องจากกลไกในการเจริญเติบโตของร่างกาย และการฝึกดูแลตั้งแต่เด็ก ๆ เช่นผู้ปกครองค่อย ๆ สอนให้ลูกทำความสะอาด พยายามรูดลงมาทีละนิด ๆ ทำบ่อย ๆ เป็นประจำ ก็จะทำให้รูเปิดของหนังหุ้มปลายค่อย ๆ กว้างขึ้น จนทำให้สามารถรูดพ้นบริเวณหัวของอวัยวะเพศได้ จากการศึกษาพบว่าในทารกแรกเกิดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายจะหุ้ม ไม่เปิดร่นออกมา มีเพียงร้อยละ 4 ของความยาวองคชาติเท่านั้นที่สามารถเปิดร่นได้ และจะค่อยๆ เปิดร่นขึ้นมาเอง เมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ จะเปิดร่นได้ประมาณร้อยละ 80 เมื่ออายุ 6 ขวบ จะเปิดร่นได้ร้อยละ 90 และเมื่ออายุ 17 ปี จะมีหนังหุ้มปลายเปิดร่นได้ร้อยละ 97-99
การขลิบหนังหุ้มปลายในเด็กแรกเกิด
1. โดยปกติในเด็กแรกเกิด อวัยวะเพศชายจะมีหนังหุ้มปลายห่อหุ้มมิดมีรูเปิดออกมาเล็กน้อยให้ปัสสาวะออกได้ และเมื่ออายุมากขึ้นจะสามารถถลกได้มากขึ้น
2. การขลิบหนังหุ้มคือการเอาหนังหุ้มนี้ออกมาเสีย โดยเด็กต้องมีสุขภาพแข็งแรงหลังคลอด พ่อแม่ต้องเข้าใจถึงเหตุผลในการทำผ่าตัด ควรปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์ให้เข้าใจเสียก่อน
3. ในเด็กประมาณร้อยละ 50 ในสหรัฐอเมริกาอเมริกาผ่านการทำการขลิบ แต่ตัวเลขในเอเชียและยุโรปน้อยกว่านั้นมาก ยกเว้นในประเทศอิสลาม ซึ่งการขลิบเป็นตามหลักศาสนา
4. เวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วง 2-3 สัปดาห์หลังคลอด แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ทำใน 10 วัน เพราะเมื่ออายุมากกว่านี้ อาจจะทำยาก และการดูแลแผลจะไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนใหญ่การขลิบจะทำหลังคลอดไม่นาน ถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย
5. การศึกษาพบว่าเด็กที่ขลิบมีการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะน้อยกว่าอย่างชัดเจนถึง 10 เท่า พบว่าผู้ที่ไม่ขลิบเป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศมากกว่าเล็กน้อย แต่ข้อมูลยังไม่มากพอที่จะแนะนำให้ทำในเด็กทุกคน เพราะการเป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศ ปกติก็มีคนเป็นน้อยมากๆอยู่แล้ว
6. การผ่าตัดในเด็กมีผลข้างเคียงน้อย แต่ยังมีได้ประมาณร้อยละ 0.2-3 เช่น เลือดออก บวม หรือติดเชื้อ ทีสำคัญคือเจ็บ แม้เด็กจะบอกไม่ได้ แต่แพทย์หลายท่านจะพิจารณาให้ยาแก้ปวด และการใช้ยาชาที่มีประสิทธิภาพในการทำผ่าตัดในเด็กเล็กๆ
การเกิดโรคมะเร็ง
การศึกษาวิจัยหลายแห่งในต่างประเทศพบว่า ขี้เปียกเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง และพบว่าเมื่อเด็กชายที่มีขี้เปียกบริเวณอวัยวะเพศ หากได้การผ่าตัดขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นและแต่งงานไปกับสตรีคู่สมรส หรือ การที่ได้ขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศแล้ว จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกของคู่สมรส หรือภรรยาของตนเองได้
โดยทั่วไปถ้าฝ่ายชายไม่ชำระล้างอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ขี้เปียกจะตกลงไปภายในช่องคลอดของฝ่ายหญิง เมื่อตกลงไปภายในก็จะไปกองอยู่บนปากมดลูกของฝ่ายหญิง ทำให้เกิดการระคายเคืองเป็นประจำสมํ่าเสมอ นานไปๆ ก็จะทำให้เซลล์ของผิวบริเวณปากมดลูกเปลี่ยนแปลงกลายไปเป็นเซลล์มะเร็งปาก มดลูกได้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการวิจัยพบว่าตัวขี้เปียกเองก็เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดมะเร็งอวัยวะเพศชายหรือมะเร็งองคชาติได้เช่นกัน
การติดเชื้อเอชไอวี
การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย มีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและโรค ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ แต่ต้องทำควบคู่ไปกับวิธีป้องกันอื่นๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย รวมทั้งการมีสุขอนามัยที่ดีในการดูแลอวัยวะเพศชาย
การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย เป็นการตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายบางส่วนหรือทั้งหมดออกไปอย่างถาวร ตามประเพณีของบางศาสนาหรือเชื้อชาติจะตัดออกประมาณ 1-2 เซนติเมตร หรืออาจตัดออกประมาณ 4 เซนติเมตร หากทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ทั่วโลกมีผู้ชายที่อายุมากกว่า 15 ปี ประมาณ 665 ล้านคนที่ขลิบอวัยวะเพศ คิดเป็นร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ชาวยิว และผู้ชายอเมริกัน
การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย จะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ เนื่องจากผิวด้านในของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย เป็นบริเวณที่มีจำนวนเซลล์รับเชื้อเอชไอวีอยู่ปริมาณมาก และเซลล์จะอยู่ในตำแหน่งที่ตื้นมาก นอกจากนี้ยังสามารถฉีกขาด ถลอก ทำให้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ได้ง่าย การขลิบจะเป็นการลดบริเวณผิวด้านในของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายทำให้ลดพื้นที่รับเชื้อเอชไอวีลงได้
ที่มา ... นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น