พอย่างเข้าฤดูฝน เมฆฝนก็คลุมท้องฟ้า ฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ลมแรง ดังที่เรียกกันว่า ฝนตกทั่วฟ้า สำหรับชาวประชาที่อยู่ใต้ฟ้าก็คงต้องปรับตัว เตรียมรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศให้ดี
เรื่องสุขภาพร่างกายก็ได้รับผลกระทบจากฤดูฝนเช่นกัน มีหลายโรคที่มากับฤดูฝน ที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคไข้หวัด ที่จริงแล้วอาจพบหรือเป็นกันได้ทั้งปี แต่จะเป็นได้บ่อยหรือชุกชุมมากในช่วงที่มีฝนตก ซึ่งก็เกิดได้บ่อยในฤดูฝน จึงพบคนเป็นไข้หวัดจำนวนมาก
ยารักษาไข้หวัด...มีอะไรบ้าง
ไข้หวัด มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ที่มีมากกว่า 200 ชนิด และทุกครั้งที่เราเป็นไข้หวัด เราจะติดเชื้อไวรัสครั้งละ 1 ชนิด และก็มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น ๆ เราจึงเป็นไข้หวัดได้บ่อย ๆ บางคนเป็นปีละครั้ง บางคนเป็นปีละ 2 ครั้ง แต่ในเด็กเล็กจะพบได้บ่อย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เริ่มไปอยู่รวมกันในสถานรับเลี้ยงเด็ก ชั้นเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล หรือโรงเรียนประถม เพราะเด็กเหล่านี้เพิ่งมาจากบ้านซึ่งเคยได้รับเชื้อไวรัสหวัดเพียงไม่กี่ชนิด ต้องมาพบกับเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ประกอบกับมีภูมิต้านทานไม่กี่ชนิด จึงเป็นไข้หวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดมากกว่าเด็ก
เวลาเป็นไข้หวัด มักจะมีอาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ พร้อม ๆ กับมีน้ำมูกไหล จึงเรียกโรคนี้ว่า ไข้หวัด ซึ่งมาจากคำไทย 2 คำ คือ "ไข้" และ "หวัด" เพราะโรคนี้ประกอบด้วย 2 กลุ่มอาการ คือ
"ไข้" คืออาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ในบางคนอาจมีอาการมึนหัว งง ๆ เวียนหัวร่วมด้วย
"หวัด" ซึ่งจะมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก เป็นต้น
เป็นไข้หวัด...ใช้ยารักษาตามอาการ
เนื่องจากโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส และยังไม่มียาที่จะออกฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดได้โดยตรง กรณีที่ป่วยเป็นไข้หวัด เราจึงแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาตามอาการของแต่ละคน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีอาการไข้ ตัวร้อน ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว ก็จะแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวดลดไข้ ซึ่งจะมีฤทธิ์ครอบคลุมอาการตัวร้อน และครั่นเนื้อครั่นตัวได้อย่างดีอีกด้วย คือ ยาพาราเซตามอล (paracetamol) หรืออะซีตามิโนเฟน (acetaminophen)
มีไข้ ปวดหัว ตัวร้อน จากไข้หวัด ใช้ยาพาราเซตามอล
พาราเซตามอล เป็นยาสามัญประจำบ้าน เวลาสมาชิกในครอบครัวมีอาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ก็จะนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ใหญ่นิยมกินครั้งละ 2 เม็ด (ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม) ทุก 4-6 ชั่วโมง เวลาที่มีอาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ และเมื่อหายดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีก ใช้หยุดยาได้เลย เมื่อไหร่ที่เป็นอีก ก็หยิบใช้เป็นครั้งคราวไป
ใช้พาราเซตามอล...อย่างฉลาด
จากการที่เราคุ้นเคยกับยาพาราเซตามอล มีการหยิบใช้กันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะปวดหัว ตัวร้อน ปวดประจำเดือน ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ เป็นต้น เรียกว่ารู้จัก และใช้กันอย่างแพร่หลาย จนขนานนามว่า เพื่อนที่แสนดี เพราะไม่ว่าจะปวดอะไรก็นึกถึงพาราเซตามอล ยาก็คือยา ยาไม่ใช่ขนม หรืออาหาร เวลาใช้ก็ต้องระมัดระวังใช้อย่างมีเหตุผล ใช้ยาอย่างฉลาด ไม่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เพราะคงเคยได้ยินคำขวัญว่า "ยามีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์" และขอเติมต่อท้ายอีกนิดว่า "ควรใช้อย่างฉลาด"
ยาที่แสนดีอย่างพาราเซตามอล ก็เป็นยาที่มีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์เช่นกัน ในเรื่องคุณอนันต์คงได้ประจักษ์กันแล้ว เพราะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ
ถ้าใช้ยาพาราเซตามอลติดต่อกันนาน...จะมีพิษต่อตับได้
การใช้ยาพาราเซตามอลครั้งละ 2 ชนิด วันละ 3 ครั้ง ใช้ติดต่อกัน 2-3 วัน หรืออย่างมากก็ติดต่อกัน 5 วันหรือประมาณ 1 สัปดาห์ ถือว่าปลอดภัย
ถ้ามีการใช้ยาเกิน 5-7 วัน และ/หรือใช้ติดต่อกันนานกว่านี้ ก็อาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่ใช้ได้ โดยอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาพาราเซตามอลติดต่อกันนาน ๆ เช่น ใช้วันละ 4 ครั้งและนานติดต่อกันเป็นเดือน ๆ ก็อาจส่งผลต่อการทำงานของตับได้ จึงควรระมัดระวัง เพราะยาตัวนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงโดยตับ เมื่อใช้ติดต่อกันนาน ๆ ก็อาจส่งผลต่อตับ ตัวเหลือง ตาเหลือง ที่เรียกกันว่า "ดีซ่าน" ได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
โทษอีกอย่างหนึ่งที่เกิดจากการใช้ยาพาราเซตามอลก็คือ ยานี้จะมีพิษต่อไตด้วย โดยจะเกิดพิษก็ต่อเมื่อมีการใช้ยาปริมาณมาก ๆ เช่น ครั้งละ 20 เม็ด ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดพิษต่อไตได้
มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ใช้ยาแก้แพ้...คลอร์เฟนิรามีน
เวลาเป็นไข้หวัดมักมีน้ำมูกไหลด้วย ยาที่ช่วยได้ดีก็คือยาแก้แพ้ (antihistamines) ในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อ แต่ที่จะขอแนะนำได้แก่ ยาคลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) ยาเม็ดเล็กๆ สีเหลือง เป็นยาแก้แพ้ ที่มีฤทธิ์ลดน้ำมูกไหลได้อย่างดี และราคาไม่แพง
ขนาดของยาคลอร์เฟนิรามีนที่ใช้สำหรับลดน้ำมูก คือครั้งละ 1 เม็ด (ขนาดเม็ดละ 4 มิลลิกรัม) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน
ยาคลอร์เฟนิรามีนเป็นยาที่ดีมีประโยชน์ และก็มีโทษแฝงอยู่เช่นกัน ที่พบได้บ่อย คือ ทำให้ง่วงนอน ซึม มึน ๆ ไม่สดชื่น ทั้งนี้เพราะยาชนิดนี้จะผ่านจากเลือดเข้าสู่สมอง และทำให้เกิดอาการดังกล่าว ดังนั้น ผู้ที่กินยาคลอร์เฟนิรามีนจึงควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร หรือการขับขี่ยานพาหนะต่าง ๆ เพราะหลังการกินยาแล้ว อาจทำให้ง่วงนอน และเกิดอุบัติเหตุได้ หรือบางครั้งจะแนะนำให้ผู้ป่วยเลือกใช้ยาชนิดนี้เฉพาะตอนเข้านอนเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
ปัจจุบันมียาแก้แพ้ชนิดใหม่ที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเรื่องง่วงนอนได้น้อยลง และสามารถใช้ตอนกลางวันหรือช่วงเวลาทำงานได้ เช่น ยาเซทีริซีน (cetirizine) ยาแอลเซทีริซีน (L-cetirizine) ยาเฟกโซฟีนาดรีน (fexofenadrine) ยาลอร่าทาดีน (loratadine) หรือยาเดสลอร่าทาดีน (desloratadine) ยาทั้ง 5 ชนิดนี้ เป็นกลุ่มยาแก้แพ้ที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้น้อยจนถึงไม่ง่วงนอนเลย สามารถใช้ตอนกลางวันหรือตอนทำงานได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้ยาแล้วก็ควรสังเกตผลของยาด้วยว่า มีอาการง่วงนอนหรือไม่ เพราะยังมีอยู่บ้างเป็นบางคนที่จะง่วงนอน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ง่วงนอน และก็เช่นเดียวกันกับยาแก้ปวด ลดไข้ เมื่อใดที่อาการดีขึ้นหรือหายดีแล้วก็หยุดยาได้เลย
เจ็บคอจากไข้หวัด ควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่
อีกอาการหนึ่งที่อาจเกิดได้ระหว่างเป็นไข้หวัด ได้แก่ อาการเจ็บคอ ซึ่งมักจะไม่ค่อยเจ็บคอมาก แต่จะมีอาการคล้าย ๆ คอแห้ง คอแห้งผาก โดยอาการนี้จะเป็นมากตอนเช้า ๆ และจะดีขึ้นตอนสาย ๆ
ถ้ามีอาการอย่างนี้ก็จัดเป็นอาการเจ็บคอจากโรคไข้หวัด ที่เกิดจากเชื้อไวรัส และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือที่นิยมเรียกกันว่ายาแก้อักเสบ เพราะยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะนั้นมีฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และไม่ได้ผลต่อโรคติดเชื้อไวรัสหวัด ในกรณีนี้จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ยาแก้อักเสบ
ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก ๆ เหมือนเป็นแผลในคอ หรือมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบ โต แดง มีหนอง หรือเสมหะมีสีเขียวข้น ก็อาจจะแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย และแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล เพื่อช่วยวินิจฉัยอาการเจ็บคออย่างแท้จริงก่อนการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ควรจัดหายาปฏิชีวนะมาใช้เอง เพราะอาจเกิดการสูญเปล่า
การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และไม่ถูกต้อง และอาจส่งผลต่อการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียที่นับวันจะเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก จนคาดว่า ในอนาคตเราอาจเป็นผู้โชคร้ายที่เกิดการติดเชื้อแล้วไม่มียาปฏิชีวนะที่ดีไว้ต่อสู้กับเชื้อที่ดื้อยาเหล่านี้ได้
การรักษาโรคไข้หวัด เน้นการรักษาตามอาการของผู้ป่วย ถ้ามีไข้ ตัวร้อน ปวดหัว ก็ให้ใช้ยาพาราเซตามอล และถ้ามีน้ำมูกไหล คัดจมูก ก็แนะนำให้ใช้ยาคลอร์เฟนิรามีน ซึ่งต้องใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ใช้ยามากเกินจำเป็น ควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น
การดูแลตนเองในโรคไข้หวัด ก็คือ การรักษาสุขอนามัยที่ดี อันได้แก่ อาการที่ถูกสุขลักษณะ มีผักและผลไม้ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การรักษาอารมณ์ให้สดชื่น แจ่มใส การดื่มน้ำบ่อย ๆ และการพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม ซึ่งช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคไข้หวัดได้เป็นอย่างดี ช่วยให้หายจากไข้หวัดได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ที่มา ... หมอชาวบ้าน
ป่วยเป็นหวัด ใช้ยาอะไรดี
ป้ายกำกับ:
สุขภาพ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น