สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี ขอเชิญร่วมงานประเพณีตักบาตรดอกไม้ ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2554 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัดพระพุทธบาทฯ ในอดีต ยามหน้าแล้งกลางเดือนสาม เดือนสี่ ผู้คนจากทั่วสารทิศ จะพากันหลั่งไหลไปนมัสการรอยพระพุทธบาทกันเนืองแน่น สมัยนั้นการขึ้นไปมิใช่เรื่องง่าย ต้องหยุดการทำงานต่าง ๆ เพื่อเตรียมสัมภาระ จัดหาทุนรอนค่าอาหาร ค่าจ้างช้างม้าเรือแพ การเดินทางยากลำบาก ทั้งชีวิตบางคนอาจมีบุญไปกราบได้เพียงครั้งเดียว บางคนไม่มีโอกาส แม้จะมีความตั้งใจสูงเพียงใด
ประกอบกับแต่ก่อน ผู้คนมักจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทกันเป็นหมู่ใหญ่ ทั้งหมดล้วนแล้วมีความตั้งใจ พร้อมกับความเชื่อที่ว่า ถ้าได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทถึง 3 ครั้งในชีวิต จะได้ขึ้นสวรรค์ ดังนั้น ทุกคนจึงเพียรพยายามอย่างยิ่ง และเมื่อไปถึงได้กราบรอยพระพุทธบาท ต่างตั้งจิตอธิษฐานตามใจปรารถนา หลังจากนั้นประชาชนทั้งหลายจะตีระฆังที่แขวนเรียงรายไว้ ด้วยหวังประกาศบุญให้เทพยดาทุกชั้นได้อนุโมทนา
ทั้งนี้ ปัจจุบันนอกเหนือจากเดือนสาม เดือนสี่แล้ว ยังมีวันเข้าพรรษาอีกหนึ่งวัน ที่ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมานมัสการรอยพระพุทธบาท
และสำหรับในจังหวัดสระบุรี ประเพณีที่สำคัญในวันเข้าพรรษาก็คือ "ประเพณีตักบาตรดอกไม้" ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี และชาวสระบุรีถือว่า ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีที่สำคัญ และปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาทุกปี
ทั้งนี้ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ สืบเนื่องมาจากตำนานที่ว่า พระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก จึงรับสั่งให้นายมาลาการนำดอกมะลิมาถวายวันละ 8 กำมือ ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิ ก็ได้พบเห็นพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งกำลังออกบิณฑบาต นายมาลาการเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงนำดอกไม้ถวายแด่พระพุทธเจ้า และตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าวของทุกสิ่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การถวายดอกไม้แด่พระพุทธองค์ ส่งอานิสงส์ถึงชาติภพหน้า ดังนั้นแม้จะถูกลงโทษประหารชีวิต เพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิพระเจ้าพิมพิสารก็ยินยอม
จากนั้น เมื่อภรรยาของนายมาลาการทราบเรื่องเกรงจะถูกลงโทษ จึงได้หลบหนีไป แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่องดังกล่าวกลับไม่กริ้ว ซ้ำยังพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก พระราชทานรางวัลความดีความชอบให้นายมาลาการมากมาย ทำให้นายมาลาการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข
จากตำนานดังกล่าว จึงส่งผลให้ประเพณี "ตักบาตรดอกไม้" ถูกสืบทอดปฏิบัติเรื่อยมา เนื่องจากชาวพุทธเชื่อว่า การตักบาตรดอกไม้จะได้บุญได้กุศลอันยิ่งใหญ่ และอานิสงส์ส่งไปถึงภพหน้านั่นเอง
และสำหรับการดำเนินพิธีการตักบาตรดอกไม้นั้น นายวัฒนพงษ์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลพบุรี กล่าวถึงประเพณีตักบาตรดอกไม้ว่า เมื่อชาวบ้านเสร็จสิ้นจากการทำบุญในตอนเช้าแล้ว ก็จะพากันนำดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" มารอใส่บาตรพระสงฆ์ ซึ่ง "ดอกเข้าพรรษา" นี้ มีลักษณะคล้ายต้นกระชาย หรือ ต้นขมิ้น มีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว ขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุใกล้ ๆ กับรอยพระพุทธบาท และผลิดอกในช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ต้นเข้าพรรษา"
หลังจากนั้น พระภิกษุสงฆ์จะเดินออกจากศาลาการเปรียญ มารับดอกไม้จากพุทธศาสนิกชนที่รอนำดอกไม้ใส่บาตร เพื่อนำขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานบนพระมณฑป ซึ่งรอยพระพุทธบาท ภายในวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารแห่งนี้ เป็นที่เคารพและศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่งของโลก
หลังจากพระสงฆ์เข้านมัสการรอยพระพุทธบาทที่มณฑปแล้ว ก่อนที่จะเข้าพระอุโบสถ จะผ่านพุทธศาสนิกชนที่รออยู่ตรงบันไดนาค เพื่อที่จะร่วมกันล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการชำระกิเลส ชำระบาป เพื่อจะได้บุญกุศล และความสุขทางจิตใจติดตัวกลับไป
ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถเข้าร่วมประเพณีครั้งนี้ได้ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานดังกล่าว อาทิ...
วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2554 เวลา 09.09 น. การประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เวลา 09.30 น. พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอพระพุทธบาท 6 แห่ง พิธีถวายเทียนพรรษา
วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2554 เวลา 06.00 น. พิธีตักบาตรพรสงฆ์ 3,000 รูป เวลา 15.00 น. พิธีเปิดงานประเพณีตักบาตรดอกไม้ประจำปี 2554
วันศุกร์ที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2554 เวลา 10.00 น. พิธีตักบาตรดอกไม้รอบเช้า และเวลา 15.00 น. พิธีตักบาตรดอกไม้รอบบ่าย
ซึ่งทุกท่านสามารถร่วมประเพณีตักบาตรดอกไม้ได้ ณ บริเวณทางขึ้นพระมณฑป วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
คำถวายดอกไม้
"อิมานิ มยํ ภนฺเต วรปุปผานิ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุโน ภนฺเต สงโฆ อิมานิ วรปุปผานิ ปฏคฺ คณฺหาตุ อมฺหาถํ ทีฆรตฺตํ หิตายสุขาย"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ซึ่งดอกไม้อันประเสริฐทั้งหลาย เหล่านี้ แด่พระสงฆ์ จงรับซึ่งดอกไม้อันประเสริฐทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่ ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ"
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางในช่วงวันเวลาดังกล่าว ททท.สำนักงานลพบุรี ขอแนะนำ เส้นทางท่องเที่ยว ไหว้พระ 9 วัด สุขใจใกล้กรุง ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมของจังหวัดสระบุรี ที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะเยี่ยมเยือนได้ อาทิ...
1. สักการะหลวงพ่อดำ หรือหลวงพ่อศรีพุทธมงคลมุนี พร้อมศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ตำนานบ้านเสาร้องไห้ ต้นกำเนิดชื่ออำเภอเสาไห้ ณ วัดสูง อำเภอเสาไห้
2. วัดสมุหประดิษฐาราม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในวัดมีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย และชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม
3. วัดพระเยาว์ พระพุทธรูปทองคำ ที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายของพม่า ที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใส พร้อมแวะชมผ้าพื้นเมืองฝีมือกลุ่มสตรีทอผ้าไทยวน ณ ศูนย์ทอผ้าวัดต้นตาล
4. วัดเขาแก้ววรวิหาร สักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวก ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และทรงสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง จากนั้นชมวีถีชีวิตและเรื่องราวของชาวไทยวน กับ อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น ณ ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวไทยวน
5. วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) สถานที่ซึ่งเคยเป็นที่พักแรมของกษัตริย์ถึง 2 พระองค์ คือ พระนารายณ์มหาราช และ พระเจ้าทรงธรรม ภายในวัดค้นพบอักษรปัลวะ อักษรโบราณที่มีอายุกว่า 1,200 ปี และนมัสการพระพุทธรูปปางสมาธิภายในถ้ำ
6. นมัสการรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร สถานที่จัดงานตักบาตรดอกไม้
7. วัดศาลาแดง นมัสการพระพุทธนิโรคันตรายชัยวัตน์จตุรทิศ เป็นพระพุทธรูปประจำทิศตะวันออก สร้างโดยกรมรักษาดินแดน ที่สร้างไว้เพียง 4 องค์ ประจำทั้ง 4 ทิศ เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
8. ชมภาพจำหลักพระพุทธเจ้า แสดงธรรมเพื่อโปรดสรรพสัตว์ในโลก ในสมัยทวารวดี อายุกว่า 1,600 ปี ภายในวัดถ้ำพระโพธิสัตว์
9. สักการะพระพุทธฉาย (พระฉายา / เงา) ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และนมัสการรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ณ วัดพระพุทธฉาย
โดยนักท่องเที่ยวทุกท่านสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี โทรศัพท์ 0 377 0096 – 7 ทุกวันเวลา 08.30 – 16.30 น. หรือ www.tat7.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น