ได้ข้อสรุปแล้วสำหรับรถสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหลังที่เกิดจากโครงการความร่วมมือระหว่างโตโยต้ากับซูบารุ เมื่อแบรนด์ดังของญี่ปุ่นเผยโฉมคันจริงของผลผลิตจากโปรเจ็กต์ FT-86 ออกมาแล้ว โดยใช้ชื่อในการขายว่า GT-86 สำหรับเจาะตลาดทั่วโลก ซึ่งการเปิดตัวมีขึ้นที่งานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2011 ต้นเดือนธันวาคมนี้ ต้องบอกว่าตรงนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความพิเศษ เพราะ GT-86 ถูกเปิดตัวออกมาในช่วงของการฉลองครบรอบ 50 ปีในการเจาะตลาดรถสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหลังของโตโยต้านับจากรุ่นแรกคือ 2000GT ในปี 1962 ส่วนผลผลิตที่เหลือซึ่งโด่งดังตามยุคสมัยของตัวเองก็มีทั้งเซลิก้า (ก่อนเปลี่ยนเป็นแบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือ 4 ล้อในเวลาต่อมา) ตามด้วย MR2 หรือ MR-S, โซลเรอร์ และซูปรา | |||
โครงการนี้มีเป้าหมายในการผลิตรถสปอร์ตที่ขับสนุกในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เพราะในปัจจุบันรถสปอร์ตแบบขับเคลื่อนล้อหลังแบบบ้านๆ ได้สูญพันธุ์ไปจากตลาดแล้ว เหลือเพียงแต่พวกระดับไฮเอนด์ที่คนกลุ่มใหญ่ไม่สามารถเอื้อมถึงได้ นี่ก็เลยเป็นที่มาของโครงการรถสปอร์ตราคาเป็นมิตร (กับกระเป๋า) หรือ Affordable Sport Car อย่างไรก็ตาม งานนี้โตโยต้าเดินเดี่ยวไม่ได้หากไม่มีพันธมิตรมาช่วยในเรื่องของการแชร์เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนในการผลิต นั่นก็เลยทำให้ซูบารุ บริษัทในเครือ FHI หรือฟูจิเฮฟวี่ อินดัสตรี้ที่โตโยต้าถือหุ้นอยู่ 16.7% เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะในการแชร์พื้นตัวถังซึ่งรถยนต์ของซูบารุแม้ว่าจะเป็นเก๋งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า (และ 4 ล้อตลอดเวลาในบางรุ่น) แต่จากวางเครื่องยนต์และเกียร์ของเครื่องยนต์บ็อกเซอร์จะต้องเป็นในแนวยาวตามตัวรถเหมือนกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง ก็เลยง่ายในการดัดแปลงให้เป็นสปอร์ตแบบขับเคลื่อนล้อหลัง ดีกว่าสร้างพื้นตัวถังขึ้นมาใหม่ทั้งชุด สะดวกทั้งงบประมาณและเวลาในการพัฒนา | |||
โตโยต้าต้องการให้สปอร์ตรุ่นนี้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าทั่วโลกเหมือนกับชื่อ 86 ที่อยู่ในใจของบรรดานักขับทั่วโลก โดยเฉพาะพวกที่ชื่นชอบความแรงและความเร็ว พอหลังจากเปิดตัวต้นแบบเวอร์ชันแรกก็เลยมีการเปิดตัวเวอร์ชันต่างๆ ออกมาให้สัมผัสกันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาถึงรุ่นจำหน่ายจริง GT-86 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิดและสไตล์การออกแบบที่ดัดแปลงมาจากต้นแบบรุ่นล่าสุดคือ FT-86 II ที่เปิดตัวในแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2011 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตัวรถเป็นแบบสปอร์ต 2+2 ที่นั่งซึ่งมีความยาว 4,240 มิลลิเมตร สูง 1,285 มิลลิเมตร พร้อมอัตราส่วนการกระจายน้ำหนักด้านหน้าและหลัง 53-47% | |||
หน้าที่ในการขับเคลื่อนเป็นเครื่องยนต์บ็อกเซอร์รุ่นใหม่แบบ 4 สูบที่มีการติดตั้งระบบไดเร็กต์อินเจ็กชั่น หรือ D4-S เข้าไป ส่วนความจุกระบอกสูบจริงๆ ที่อยู่ที่ 1,998 ซีซี มีอัตราส่วนการอัดอยู่ที่ 12.5 :1 รีดกำลังออกมาได้ 197 แรงม้า ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 20.9 กก.-ม. ที่ 6,600 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ 6 จังหวะ โดยที่ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังแบบปีกนก 2 ชั้น ใครที่สนใจก็เตรียมเงินเอาไว้ได้เลย เพราะปีหน้าจะเริ่มวางขายในตลาดทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นน่าจะมีเมืองไทยรวมอยู่ด้วย | |||
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น