ข้อเท็จจริง "อีเอ็มบอล" หัวเชื้อจุลินทรีย์ "บำบัดน้ำเสีย"
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554)
หมายเหตุ - ส่วนหนึ่งบทความของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ นักคิดนักพัฒนา ผู้ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ใช่นักวิชาการ แต่เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำการเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังมากว่า 10 ปี จนได้รับการยอมรับในหมู่เกษตรกรให้เป็นบุคคลตัวอย่าง และเป็นหนึ่งในผู้ที่คิดค้นพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ขึ้นมาเพื่อบำบัดน้ำเสีย และใช้ได้ผลมาแล้ว
หลังจากได้ทราบประเด็นที่มีการถกเถียงเรื่อง "EM และน้ำหมักชีวภาพแก้ไขปัญหาน้ำเน่า เสียได้จริงหรือ?" ของกลุ่มอาจารย์ภาควิชา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปความได้ว่า จุลินทรีย์ กลุ่ม EM ( Effective Microorganisms ) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย ศาสตราจารย์ Teruo Higa นั้น อาจส่งผลเสียให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียจากการขาดออกซิเจนที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้นส่วนผสมของ EM Ball เช่น กากน้ำตาลและรำข้าว ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ จะส่งผลให้เน่าเสียเพิ่มขึ้นด้วย
|
|
จากประสบการณ์ การเอาอีเอ็มมาใช้งานมานาน ขออธิบายเรื่องนี้ว่า ชื่อ EM (Effective Microorganisms) เป็นเหมือนความคุ้นเคยของคนในแวดวงเกษตรอินทรีย์ที่ได้นำมาใช้ในการพัฒนากิจกรรมทางด้านการเกษตร ซึ่งรู้กันดีว่า เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของศาสตราจารย์ Teruo Higa จากญี่ปุ่น มีทั้งกลุ่มที่ทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน และโดยคุณสมบัติและหน้าที่การทำงาน ก็เป็นไปตามบทความข้างต้นที่ทุกคนได้อ่าน ความคุ้นเคยของการเรียกคำว่า EM นั้น มันคุ้นเคยจนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า EM หมายถึง หัวเชื้อจุลินทรีย์ตัวเดียวกัน จากแหล่งเดียวกัน เหมารวมกันไปหมดว่า จุลินทรีย์ในโลกนี้ชื่อ EM ทั้งที่ในความเป็นจริง หากจะใช้ภาษาอังกฤษ คำว่าจุลินทรีย์ คือ Microorganisms (เติม S เพราะจุลินทรีย์มันมีเยอะมากมายไปหมด) ส่วน EM คือชื่อยี่ห้อของกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นการค้า โดยพัฒนาขึ้นจนเป็นลิขสิทธิ์ของศาสตราจารย์ Teruo Higa
แต่สาระสำคัญไปกว่านั้น ด้วยความที่กลุ่มจุลินทรีย์มีเยอะ และไม่ใช่แค่เพียงศาสตราจารย์ Teruo Higa จากญี่ปุ่น เท่านั้นที่พัฒนาได้
ในประเทศไทย เชื่อได้ว่า กลุ่มองค์กรที่พัฒนาการทำเกษตรยั่งยืน หรือหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ประสบการณ์จากการพัฒนากิจกรรมในพื้นที่ของตนพัฒนาจุลินทรีย์ได้เองก็มีอยู่ไม่น้อย แต่จะอยู่ในกลุ่มใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แต่ละองค์กรจะมีให้อ้างอิง เฉพาะหัวเชื้อจุลินทรีย์ของข้าวขวัญ ก็เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่พัฒนาจากดินในป่า ไม่ใช่จุลินทรีย์ในกลุ่ม EM ( Effective Microorganisms ) ของศาสตราจารย์ Teruo Higa หรือเป็นจุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่เรียกว่า พด.หมายเลขต่างๆ (โดยมาก ใช้ พด.6 ในการปั้น) และข้าวขวัญไม่เคยเรียกชื่อจุลินทรีย์ที่พัฒนาได้เองว่า EM เลย เราใช้คำว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์จากดินป่ามาตลอด
หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาขึ้นมาเองจากผิวดินนี้ เก็บมาจากป่าห้วยขาแข้ง บริเวณน้ำตกไซเบอร์ ซึ่งมูลนิธิข้าวขวัญได้ทดลองใช้มานานนับ 10 ปี รวมทั้งเผยแพร่ให้ชาวนานำไปใช้ในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชน ได้นำไปบำบัดน้ำเสียได้อย่างเป็นผลที่น่าพอใจ มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยไม่มีการจดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
มูลนิธิข้าวขวัญใช้จุลินทรีย์จากดินป่าห้วยขาแข้ง ในการหมักฟางในนาข้าวให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยย่ำฟางข้าวให้จมน้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นเวลา 7-10 วัน ฟางก็จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยไม่เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายสารอินทรีย์โดยไม่ใช้อากาศ (Anaerobic) จึงไม่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ดังเช่น กลุ่มจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายโดยใช้อากาศ (Aerobic)
ส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่ปั้นบอล ซึ่งมีทั้งกากน้ำตาลและรำข้าวนั้น ใช้เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ให้ขยายจำนวนมากขึ้น เมื่อปั้นก้อนเสร็จแล้วจะมีการบ่มหมักเอาไว้ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายกากน้ำตาลและรำข้าว เพื่อเพิ่มปริมาณ จุลินทรีย์เป็นเวลาอย่างน้อย 7-10 วัน ถ้าใครเคยทำ จะเห็นว่า ระหว่างนั้นจะเกิดความร้อนจากการหมัก เช่นเดียวกับการทำปุ๋ยหมักนั่นเอง เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์จนไม่เกิดความร้อนแล้ว ค่อยนำไปใช้ จึงไม่ทำให้น้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้นจากส่วนผสมเหล่านี้ (เข้าใจง่ายๆ รำกับกากน้ำตาลถูกย่อยสลายก่อนทิ้งลงน้ำด้วยซ้ำ)ฉะนั้น ความสำคัญ คือก่อนนำไปบำบัดลงน้ำ อินทรียวัตถุถูกย่อยสลายดีแล้วหรือยัง ตรงนี้คืออีกสิ่งที่ควรใส่ใจ
จุลินทรีย์จากดินป่านี้ โรงงานปูนซีเมนต์ไทยแก่งคอย ได้นำไปบำบัดน้ำเสีย ที่เกิดจากโรงงานผลิตถุงปูนซีเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำล้างกาว ปรากฏว่าสามารถบำบัดน้ำเสียได้ดี บีโอดี (Biochemical Oxygen Demand -ปริมาณของออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์) ลดลงต่ำกว่า 20 สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ โรงงานปูนซีเมนต์ไทยแก่งคอยใช้จุลินทรีย์จากดินป่าบำบัดน้ำเสียมากว่า 5 ปี แล้ว ปัจจุบันก็ยังคงใช้ในการบำบัดอยู่อย่างได้ผลดี โดยไม่ต้องไปซื้อจุลินทรีย์จากที่ไหน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ดังนั้น ด้วยประสบการณ์ตรงจากการใช้จุลินทรีย์จากดินป่ามากว่า 10 ปี ของมูลนิธิข้าวขวัญ เราได้ริเริ่มกิจกรรมปั้นจุลินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้นำไปบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากน้ำท่วมขัง โดยคิดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบ้านที่เรารักหลังนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย โดยมั่นใจว่าจุลินทรีย์บอลที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจทำนี้ จะไม่ทำร้ายบ้านที่เรารักอย่างแน่นอน
|
|
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน
|
รายการที่เกี่ยวข้อง: ทั่วไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น