สิ่งที่ควรเตรียมเมื่อจะอพยพหนีน้ำท่วม


หลายคนคงเริ่มคิดที่จะอพยพหนีน้ำท่วมไปยังศูนย์อพยพหรือไปพักพิงที่ต่างจังหวัดกันแล้วเพราะสถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มจะไม่น่าไว้ใจ ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำในการเตรียมตัวเพื่อการอพยพครั้งนี้

1. เตรียมแผนอพยพให้ดี ว่าจะทำอะไร อย่างไร เมื่อไร และจะขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากใครบ้าง

2. จัดเตรียมกระเป๋าใส่ของที่ต้องติดตัวไป โดยเตรียมกระเป๋าแบบที่เคยเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด ส่วนจำนวนมากหรือน้อยชิ้นก็ขึ้นกับว่าเราตั้งใจจะไปพำนักนอกบ้านกี่วัน และหากถ้าต้องไปอยู่ที่ศูนย์อพยพก็ต้องเตรียมตัวมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย วิทยุเล็กๆ พัดลม เสื่อ หมอน ฯลฯ

3. หมั่นออกไปสำรวจบริเวณใกล้บ้าน โดยมุ่งไปทางทิศเหนือเป็นหลัก เพื่อดูว่าน้ำใกล้จะมาถึงบ้านแล้วหรือยัง ควรใช้เวลาอีกกี่วันถึง โดยดูจากข้อมูลย้อนหลังไป 3-4 วันว่าน้ำวิ่งในบริเวณนั้นเร็วเท่าใด คือ ถ้าพื้นราบน้ำวิ่งช้า แต่ถ้าพื้นที่มีความลาดชันน้ำจะวิ่งเร็ว

4. ยกเตาแก๊สและตู้เย็นซึ่งมักอยู่ที่ห้องครัวชั้นล่างขึ้นบนที่สูง โดยเลิกหุงหาอาหารในช่วงนี้ ให้ซื้อของกินจากข้างนอกจะสะดวกกว่า

5. หากเป็นครัวแบบติดตั้งในที่ แบบที่เรียกว่า ‘บิลท์อิน' ก็ให้ถอดบานประตูและลิ้นชักไม้ขึ้นเก็บบนที่สูง ซึ่งก็เป็นเพียงแค่การเผื่อว่าตัวโครงไม้ยังอยู่ดีเมื่อเรากลับมา แต่ถ้าท่วมนานจนโครงบิดหรือเสียรูป แบบนี้ก็ต้องทำใจและไปหาซื้อมาติดตั้งใหม่

6. หากมีสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขตัวผู้ ต้องหากรงไว้ใช้ในการขนย้าย หรือเอาไว้ใช้ในกรณีที่ที่จะไปพักมีสุนัขเจ้าของพื้นที่อยู่ สุนัขตัวผู้แปลกหน้าสองตัวเจอกันก็มักมีปัญหาได้เสมอ แต่ถ้ายุ่งยากก็อาจไปซื้อกรงเอาข้างหน้า และอย่าลืมโซ่จูง จานอาหาร และถุงอาหาร ยกเว้นจะไปซื้อใหม่เอาดาบหน้าเช่นกัน

7. หากได้ติดเทปกันน้ำเข้าไว้ที่ประตูเข้าตัวบ้านโดยเฉพาะประตูกระจก ก็ควรแกะออกเสียเพื่อยอมให้น้ำเข้าบ้านได้บ้างเพราะเราไม่ได้อยู่บ้านคอยดูแลระดับน้ำ ซึ่งหากความลึกน้ำต่างกันมากจะทำให้ส้วมระเบิด พื้นทะลุ หรือกระจกแตกได้ ทั้งนี้ อันกระจกนี้เป็นที่รู้กันในวงการช่างว่ารับแรงบิดไม่ได้ แม้บิดเพียงเล็กน้อยก็ไม่ได้

8. เอาถุงทราย(ถ้ามี)กดทับเพื่ออุดรูส้วม และหัวตะแกรงระบายน้ำ รวมทั้งหัวดูดส้วม(ที่เป็นทองเหลืองเป็นรูปวงกลม ขนาดประมาณ 4 นิ้วหรือ 10 เซนติเมตร)เพื่อมิให้ของเสียจากส้วมดันทะลุเข้ามาที่ห้องน้ำ เวลาเรากลับมาจะได้ทำความสะอาดบ้านได้ง่ายหน่อย

9. ตัดไฟชั้นล่างออกหมด แล้วเปิดไฟแสงสว่างบางดวงไว้ที่ชั้นบนบ้าง เอาไว้ขู่หรือหลอกขโมยว่ายังมีคนอยู่บ้าน ยิ่งถ้ามีอุปกรณ์ตั้งเวลา (timer) มาใช้บังคับให้ปิดเปิดดวงไฟเป็นเวลา เช่น ช่วง 3 ทุ่มถึงเที่ยงคืน และตีหนึ่งถึงตีสี่ ฯลฯ ก็ยิ่งดี เพราะมันดูเหมือนมีคนมาเปิดปิดไฟ แทนที่จะเปิดนิ่งอยู่อย่างนั้นตลอด 24 ชั่วโมง

10. ตัดเครื่องสูบน้ำที่ชั้นล่าง(ถ้ามี) แล้วยกขึ้นชั้นบน หรือขนขึ้นรถไปด้วย ขโมยถ้ามันมาจริงจะได้เอาไปไม่ได้ เอาไว้เวลากลับมาจะได้เอามาต่อเข้ากับท่อแล้วใช้สูบน้ำมาล้างบ้าน หากปล่อยทิ้งปั๊มไว้ให้น้ำท่วมเวลากลับมาจะยังใช้ปั๊มไม่ได้จนกว่ามันจะแห้งสนิท ซึ่งใช้เวลาอีกเป็นอาทิตย์ ซึ่งจะไม่สะดวกเลย

11. ปิดวาล์วมิเตอร์ประปาหน้าบ้าน

12. จดเบอร์โทรศัพท์คนข้างบ้าน เอาไว้โทรติดต่อประสานงานกัน หรือช่วยดูแลบ้านกันและกัน

13. ขอให้คนข้างบ้านที่อาจยังไม่ย้ายออก ให้เก็บหนังสือพิมพ์และไปรษณีย์อื่นๆที่มาส่งที่บ้านด้วย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ขโมยจะรู้ว่าไม่มีคนอยู่บ้าน

14. อย่าลืมบัตรประชาชน บัตรประกัน บัตรโรงพยาบาล บัตรเครดิต ฯลฯ

15. ห้ามลืมโทรศัพท์มือถือและแท่นชาร์จแบตเตอรี่ เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญมากในยุคปัจจุบัน

16. หากจะไปอยู่นาน ก็อาจแถมท้ายด้วยการพกเอาโน้ตบุ๊กหรือไอแพดไปด้วย หรือจะให้สุนทรีย์กว่านั้นก็เอาแผ่นดีวีดีไปด้วย เอาไว้คลายเครียด

17. ขอแนะนำว่าให้ล็อกเฉพาะประตูเข้าบ้าน ส่วนประตูห้องในบ้าน ตู้ ลิ้นชัก ฯลฯ ไม่ควรล็อก เพราะเวลาขโมยเข้าบ้านเขาก็จะงัดและแงะอยู่ดี เฟอร์นิเจอร์พวกนี้ก็จะเสีย และเราต้องเสียเวลาและเงินมาซ่อมอีกทีในภายหลัง สู้เปิดให้มันขโมยได้จะๆไปเลยดีกว่า แต่นั่นหมายถึงว่าเราต้องเอาของมีค่าไปเก็บที่อื่นไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ของมีค่าพวกนี้มีตั้งแต่เพชรพลอย ทองคำ เงินสด โฉนด พาสปอร์ต ปริญญาบัตร ทะเบียนบ้าน ฯลฯ

สุดท้ายหลังจากเตรียมความพร้อมแล้ว ก็ต้องเตรียมใจและปล่อยวาง หากน้ำมันจะท่วมจริงและมีขโมยขึ้นบ้านจริง ก็ให้คิดเสียว่ามีอีกหลายคนที่เจอชะตากรรมเดียวกับเรา บางคนเลวร้ายกว่าเราด้วยซ้ำ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

ภาพประกอบจาก :อินเทอร์เน็ต




0 ความคิดเห็น:

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม