คล้อยหลังการทดสอบปิกอัพ “ไฮลักซ์ วีโก้” บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดแจงทำทริปให้ผู้สื่อข่าวได้ลองขับพีพีวีคู่บุญ “ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่” ซึ่งคราวนี้ขนขบวนล่องใต้ใช้เส้นทางเซาเทิร์นซีบอร์ด ระหว่างจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ก่อนข้ามอ่าวไทยไปจบที่เกาะสมุย รุ่น 3.0V ขับเคลื่อน 4 ล้อ
...บิ๊กไมเนอร์เชนจ์ของ วีโก้-ฟอร์จูนเนอร์ เปิดตัวเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกับอัดเครื่องมือทางการตลาดเต็มสูบ หวังบูมกระแสในช่วงแรกให้กระหึ่ม และแม้ตอนนี้ประเทศไทยกำลังโดนวิกฤตน้ำท่วมหลายจังหวัด อาจทำให้ยอดขายสะดุดไปบ้าง ทั้งพืชผลการเกษตรเสียหาย ผู้คนไม่มีอารมณ์และกำลังทรัพย์ซื้อรถใหม่ ตลอดจนปัญหาเรื่องการส่งมอบ
แต่กระนั้นเชื่อว่าหลังผ่านอุทกภัยครั้งใหญ่ไปแล้ว ตลาดจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ด้วยนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล (วีโก้ได้ทุกรุ่นแต่ฟอร์จูนเนอร์ไม่เข้าเงื่อนไข) รวมถึงการเตรียมเปิดตัวปิกอัพโมเดลใหม่จากหลายค่าย ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ตระหนักชัดเจนยิ่งขึ้นว่า สภาพถนน ฟ้า-ฝน ภูมิประเทศเมืองไทย ปิกอัพยังเป็นเพื่อนคู่ใจพร้อมลุยได้มากที่สุด (เก๋งลุยน้ำไม่ไหว)
สำหรับ “ฟอร์จูนเนอร์” ถือเป็นเจ้าตลาดในกลุ่มปิกอัพดัดแปลง แม้บางเดือน (ก่อนการไมเนอร์เชนจ์) อาจโดน มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ทำยอดขายแซงไปบ้าง แต่ระยะยาวๆ หลังจากนี้ไป เชื่อว่าใครก็กินฟอร์จูนเนอร์ลำบากภายในรุ่น 3.0V ขับเคลื่อน 2 ล้อ
ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ถูกปรับรูปลักษณ์ไปพอสมควร ด้านหน้าเปลี่ยนยกแผง ตั้งแต่เส้นสันฝากระโปรง สกูปดักลมใหญ่ขึ้น โคมไฟ กระจังหน้า โป่งล้อ กันชน ล้ออัลลอย 17 นิ้วลายใหม่ ด้านท้ายเปลี่ยนลวดลายโคมไฟ และชายกันชนล่างออกแบบใหม่ ส่วนรุ่นท็อป 3.0V 4WD จะเพิ่มที่ฉีดล้างไฟหน้ามาให้ด้วย
ภายในปรับให้สะดุดตา ทั้งพวงมาลัยวงใหม่ (แบบอัลติส คัมรี่) หัวเกียร์ แผงลายไม้สีดำเข้มบริเวณคอนโซลหน้า-แผงประตู เสริมช่องต่อ USB/AUX ตามสมัยนิยม และคงเครื่องเล่นวิทยุ ซีดี ดีวีดี รับไฟล์ MP3/WMA ระบบปรับระดับเสียงอัตโนมัติตามความเร็วรถ รวมถึงระบบเชื่อมต่อไร้สายบลูทูธ
...ทริปนี้ผู้เขียนได้ ฟอร์จูนเนอร์รุ่น 3.0V ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ ราคา 1.319 ล้านบาท มาเป็นพาหนะ ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ขายดีของโตโยต้า โดยส่วนตัวคิดว่าหน้าตารวมๆ คมเข้ม แต่ไม่ชอบกรอบไฟท้ายแบบใหม่เพราะดูประดักประเดิดไปนิด
ภายในห้องโดยสารกรุ่นกลิ่นเดิม แต่ดูทันสมัยมากขึ้น พวงมาลัยอารมณ์เก๋ง พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียง-โทรศัพท์ เบาะหนังนั่งสบายไม่นุ่มไม่แข็งเกินไป โดยด้านคนขับปรับระดับไฟฟ้า ทัศนวิสัยชัดเจนมองไกลจากตัวรถสูงใหญ่ พร้อมกล้องมองหลังสะท้อนภาพออกจอด้านหน้าช่วยให้การถอยจอดสะดวกปลอดภัย ขณะที่ช่องต่อ USB กลายเป็นออปชันมาตรฐานที่รถรุ่นใหม่ต้องมี ผู้เขียนก็ลองเชื่อมต่อกับ“ไอพอด ทัช” พร้อมกดสั่งงานผ่านหน้าจอทัชกรีนใช้งานง่าย ส่วนคุณภาพเสียงอยู่ในระดับพอใช้
การเก็บเสียงภายในห้องโดยสารค่อนข้างดี หรืออาจจะมีลมวูบวาบตั้งแต่ความเร็ว 120 กม./ชม.ขึ้นไป ด้านเสียงเครื่องยนต์ออกแนวไพเราะลื่นหู สอดคล้องกับการกดคันเร่ง
ขุมพลังพิมพ์นิยม 1 KD-FTV ขนาด 3.0 ลิตร ดีเซลคอมมอนเรล ไดเรกอินเจ็กชัน เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 343 นิวตัน-เมตร ที่ 1,400-3,200 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด
พละกำลังยังเป็นจุดเด่นคุยได้ แรงบิดรีดลงล้อคู่หลังส่งให้อัตราเร่ง รวมถึงจังหวะออกตัวรถพลุ่งพล่านตามสไตล์ การขับขี่ปกติ เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังให้ประสิทธิผลยอดเยี่ยม ขับนอกเมืองใช้ความเร็วพลังเหลือเฟือ ไหลได้ยาวๆ
จุดที่ผู้เขียนมองว่า ฟอร์จูนเนอร์ ปรับให้สอดรับกับการใช้งาน นั่นคือ การบังคับควบคุมโดยพวงมาลัยแร็กแอนด์พิเนียน เซตมาให้ขับง่ายขึ้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่าความแม่นยำน้อยลงซึ่งไม่ใช่ข้อติสำหรับรถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่
น้ำหนักพวงมาลัยกำลังดี สั่งงานซ้าย-ขวาอาจจะมีระยะฟรีนิดๆ ต่างจาก “ฟอร์จูนเนอร์ เก่า” เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คนทั่วไปหรือใครมาขับครั้งแรกทำความคุ้นเคยได้ง่ายขึ้น
ตลอดจนช่วงล่างแม้ใช้โครงสร้างเดิม คือ ด้านหน้าปีกนกสองชั้น คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง หลังแบบ 4 จุดยึด พร้อมคอยล์สปริง แต่วิศวกรโตโยต้า พยายามพัฒนาหาจุดลงตัวเรื่อยมา ซึ่งในรุ่นนี้ก็ปรับการรองรับให้นุ่มนวลขึ้น
ขับเรื่อยๆ ใช้ความเร็วต่ำ (ช่วงออกจากสนามบินกระบี่ ผ่านแหล่งชุมชน) ในตำแหน่งผู้ขับยอมรับว่า นั่งนิ่มขับสบายมากขึ้น ความเร็ว 80-100 กม./ชม. ช่วงล่างรองรับแรงเด้งอาการสะเทือนดีกว่าเดิม ช่วงผ่านรอยต่อคอสะพานฉลุยนุ่ม
อย่างไรก็ตามหลังจากวิ่งเข้าเซาท์เทิร์น ซีบอร์ด ทางตรงใช้ความเร็วสูง 120-140 กม./ชม. รถยังทรงตัวดี ควบคุมได้มั่นใจ แต่มีช่วงเข้าโค้งยาว หรือลองเปลี่ยนเลนกะทันหัน ตัวถังก็โยกคลอนพอสมควร
เรื่องความปลอดภัย มีระบบควบคุมการทรงตัว VSC ที่ทำงานร่วมกับเบรก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบเสริมแรงเบรก BAและระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Traction Control ซึ่งถือเป็นระบบมาตรฐานมาแต่ไหนแต่ไร เหนืออื่นใดโตโยต้ายังปรับหม้อลมเบรก แรงดันเบรก ให้มีประสิทธิภาพดียึ่งขึ้น ซึ่งผู้เขียนพบว่าการตอบสนองและระยะเบรกดีขึ้นจริงดั่งว่า
ด้านอัตราบริโภคน้ำมันจากทริปนี้ ที่ขับสภาพการณ์หลากหลาย (ใช้ความเร็วสูงสุด 180 กม./ชม.) ระยะทางเกือบ 300 กิโลเมตร เห็นตัวเลข ฟอร์จูนเนอร์ 3.0V ขับเคลื่อน 2 ล้อ ทำได้ 11-12 กม./ลิตร
รวบรัดตัดความ... พัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งาน และพยายามปิดปากเสียงบ่นที่ผ่านมา “ฟอร์จูนเนอร์” อาจไม่ใช่รถดีที่สุด แต่ก็ไม่ใช่รถอเนกประสงค์ที่แย่ที่สุดเช่นกัน
ปรับใหม่ “ฟอร์จูนเนอร์”...เชื่องมือ นุ่มเนียน
ป้ายกำกับ:
รถยนต์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น